สธ.-ศธ.เปิดหลักสูตร ปรุงอาหารผสมกัญชา – หลังจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยกำหนดชิ้นส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำมาประกอบหรือปรุงอาหารได้ในเงื่อนไขที่กำหนด

เป็นการปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง พ้นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก และเมล็ดกัญชา ไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ก็ทำวงการอาหารคึกคักทันที ด้วยการเปิดตัว “กัญชารส” ร้านอาหารกัญชาแห่งแรกในไทย

จัดเต็มเมนู “มาชิมกัญ” ชูรสชาติด้วยสมุนไพรไทยโบราณ ในรูปแบบอาหาร ฟิวชั่นกัญชาไทย ประกอบด้วย 4 เมนูตามภูมิปัญญาเดิม คือ

‘รื่นเริง บันเทิงยำ’ เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา (ใส่กัญชา 5 ใบต่อจาน)

‘ข้าวกะเพราสุขใจ’ กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ (ใส่กัญชา 1/2 ใบต่อจาน)

‘ขนมปังคิกคัก’ กินเสริมเวลาพัก แล้วจะรักทุกคำ (ใส่กัญชา 2 ใบต่อจาน)

‘เล้งแซ่บซดเพลิน’ ช่วยเจริญอาหาร (ใส่กัญชา 1/2 ใบต่อจาน)

นอกจากนี้ ยังมี ก๋วยเตี๋ยวอารมณ์ดี คุกกี้รื่นเริง ชอร์ตเบรดพาเพลิน ปังกรอบขบขัน รวมทั้งเครื่องดื่มซู่ซ่าร่าเริง ที่ทำจากน้ำคั้นใบกัญชาสดๆ ผสมชา โซดา และน้ำผึ้งป่า

ถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของผู้ที่สนใจ เริ่มต้นธุรกิจอาหารสีเขียว

ล่าสุดมีข่าวดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเรียนรู้การประกอบธุรกิจจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่างสธ. โดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และสธ. โดย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.

ภายในงานยังเปิดครัวตำรับยิ้ม โชว์เมนูอาหารพาเพลินที่มีส่วนผสมของกัญชา อาทิ ข้าวกะเพรา แกงเขียวหวานเนื้อ หอยแมลงภู่อบพร้อมน้ำจิ้ม เค้กช็อกโกแลต ข้าวยำ และเครื่องดื่มกัญชา

นายอนุทินกล่าวว่า สธ. และ ศธ. ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สปา และการท่องเที่ยว ภายหลังจากที่ได้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ทำให้สารสกัดกัญชา ไม่ได้อยู่ใต้ดินอีกต่อไป

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เริ่มโครงการมาชิมกัญ โดยนำเมนูอาหารที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำไว้เป็นต้นแบบไปเผยแพร่ให้ร้านอาหารที่สนใจ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้เห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากกัญชาและกัญชงมีจริง

ด้าน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการร่วมกับสำนักงาน ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัด/กรุงเทพ มหานคร และสถานศึกษาขึ้นตรงในจังหวัดที่มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา เน้นการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ให้วิสาหกิจชุมชนปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมได้อย่างปลอดภัย และจะขยายต่อไปยังผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงในระยะต่อไป

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ใบกัญชา ถือเป็นวัฒนธรรมคนไทยในการใช้เป็นเครื่องชูรสในอาหาร ไม่ได้กินแบบผักบุ้ง คะน้า แต่จะใช้เพียง 2-3 ยอดเพื่อให้ กินอาหารอร่อย กินข้าวได้ โดยอภัยภูเบศรได้สืบทอดวัฒนธรรมและนำมาเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร

ขณะเดียวกันสมัยโบราณยังไม่มีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์มากนัก แต่ปัจจุบันเรามีความรู้ว่า กัญชาไทยมีสารเมา แม้ใบจะมีปริมาณสารเมาหรือ THC ไม่มาก แต่ต้องมีข้อห้ามสำหรับบางกลุ่มในการบริโภค ตรงนี้ ซึ่งมี 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี

2.ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตร

3.คนที่มีปัญหาตับไตบกพร่อง

4.ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน 5.ผู้ป่วยใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท และ 6.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกเหนือจากกลุ่มเหล่านี้บริโภคได้ แต่ต้องบริโภคในปริมาณน้อยๆ แนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 5 ใบ

ที่ผ่านมามีงานวิจัยระบุว่า การกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา หากจะมีผลในเรื่องของสาร THC ที่ทำให้เกิดความเมานั้น ต้องกินระยะยาว แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลาการปรุงอาหารด้วยน้ำมัน หรืออาหารทอด สารเหล่านี้จะออกมาก หรือการปรุงนาน แต่สาร THC ไม่มาก โดยมีต่ำกว่า 1% แต่ขึ้นอยู่กับการปลูกเช่นกัน ซึ่งก็ต้องระวัง

ดังนั้น สิ่งแรกต้องคุมปริมาณการบริโภค โดยใน 1 จานต้องปรุงอาหารมากที่สุด ไม่เกิน 5 ใบ อย่างที่ร้านของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะให้ความรู้ด้วยว่า จะมีการปรุงตั้งแต่ผสมใบกัญชาครึ่งใบ ไปจนถึง 5 ใบ และเงื่อนไขนี้จะอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนปรุงอาหารกัญชาของอภัยภูเบศรด้วย

ถามว่าหากกินเกิน 5 ใบต่อวันจะส่งผล อย่างไร ภญ.ผกากรองกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบุคคล อย่างบางคนไวต่อฤทธิ์กัญชา บางคนไม่ถึงกับเมาแต่อาจรู้สึกตื้อๆ ใจสั่น ก็ให้ หยุดรับประทาน โดยปกติการกินอาหารเข้าไปจะออกฤทธิ์ประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ในรายงานต่างประเทศอยู่ที่ 1-3 ชั่วโมง เมื่อลูกค้ามาที่ร้านก็จะบอกว่า แบบไหน ไม่ควรกิน หรืออาจสังเกตง่ายๆ ใครดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเมาง่ายก็ต้องหลีกเลี่ยง หรือเลือกทานเมนูที่มีส่วนผสมน้อยๆ

ใครที่กินอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาและรอจนถึงครึ่งชั่วโมงเริ่มมีอาการใจสั่น ก็ต้องหยุด และให้ดื่มน้ำมะนาว

ส่วนการจะปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา มีเงื่อนไขตรงที่หากร้านอาหารไหนจะประกอบอาหารที่มีกัญชา จะต้องนำใบกัญชามาจากสถาบันหรือสถานที่ที่ผ่านการขออนุญาตก่อน

ขณะนี้ สธ. โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กำลังจับคู่ร้านอาหารที่ต้องการทำ กับรัฐวิสาหกิจที่ปลูก โดยสถาบันกัญชาฯ จะเป็นตัวกลางจัดอบรมหลักสูตรการสอนปรุงอาหารกัญชาเบื้องต้น หลักสูตรประมาณ 40 ชั่วโมง

โดยจะเปิดลงทะเบียนที่งานมหกรรมกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค. 2564 ที่สนามช้างอารีนา จ.บุรีรัมย์

เชฟทั่วประเทศและผู้สนใจอย่าพลาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน