วิจัยขึ้นภาษีบุหรี่ลดหัวใจวาย – พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า มีงานวิจัยใหม่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE ซึ่งได้ศึกษาผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่ และมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะของประเทศไทยต่ออัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ acute myocardial infarction ระหว่างปี 2549-2560 พบว่า ทุกๆ 10 บาทของราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นช่วยลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลง 5% ในประชากรไทยที่อายุน้อยกว่า 45 ปี โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบว่า การประกาศมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประชากรไทยอายุน้อยกว่า 45 ปีได้ 13%

พญ.เริงฤดีกล่าวว่า ปัจจุบันพบคนไทยเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดอายุน้อยลง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ จากข้อมูลพบว่า 90% ของคนอายุน้อยกว่า 45 ปีที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพหรือแข็งตัว ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดหรือปริแตกที่ด้านในของผนังหลอดเลือดส่วนที่เสื่อมสภาพอย่างเฉียบพลัน จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด

“จากงานวิจัยพบว่ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยทั้งการขึ้นภาษีและการจำกัดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ช่วยลดการสูบบุหรี่และความสูญเสียจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอันเป็นผลจากการ สูบบุหรี่ ทำให้ประเทศไทยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคดังกล่าวไปได้กว่า 1,500 ล้านบาท ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2560” พญ.เริงฤดีกล่าว

ดร.สแตนตัน แกลนซ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ผู้วิจัยร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่และการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกยกเป็นมาตรการควบคุมยาสูบที่คุ้มค่าและได้ผลดี ซึ่งตนเองได้ศึกษาข้อมูลจากหลายประเทศที่ออกมาตรการ ดังกล่าวก็พบผลลัพธ์อย่างเดียวกันคือช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกะทันหันและเป็นผลโดยตรงจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อย เพราะเป็นกลุ่มที่มีความ อ่อนไหวต่อราคาบุหรี่ที่แพงขึ้นมากกว่าเมื่อมีการขึ้นภาษีบุหรี่ และส่วนมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้นจะลดการเจ็บป่วยของคนที่ได้รับควันบุหรี่ มือสองซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนที่สูบบุหรี่ โดยส่วนใหญ่ของคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมักเป็นคนอายุน้อยที่รับควันมือสองตั้งแต่วัยเด็ก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้สูบบุหรี่หยุดทำร้ายคนอื่น โดยไม่สูบบุหรี่ในที่ที่กฎหมายห้ามสูบ รวมถึงในบ้าน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ต้องจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจวายกะทันหันได้เป็นจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน