มิตซูบิชิ‘เอาต์แลนเดอร์’PHEV“มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” (PHEV) ไม่ได้เป็นแค่รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักเท่านั้น แต่เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า ป้อนย้อนกลับมาให้ใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ยามเกิดภัยพิบัติ หรือจำเป็นได้อีกด้วย”

หนึ่งในผู้บริหาร มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวในช่วงที่แนะนำตัวรถ ก่อนที่จะให้ผู้สื่อข่าวทดสอบประสิทธิภาพ สมรรถนะ รวมถึงเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า ขนาดไม่เกิน 1,500 วัตต์ ให้เห็นกันจะจะ แบบใช้งานจริง

นัดแนะกันแต่เช้าที่สนามทดสอบจำลองริมบึงในเมืองทองธานี มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ PHEV รถสไตล์ SUV เรือธงของค่าย ทรีไดมอนต์ 5 คัน จอดชาร์จไฟฟ้าจากสายไฟที่แถมให้พร้อมกับ ตัวรถ ไม่ต้องติดตั้งกล่องชาร์จไฟต่างหาก

ก่อนออกเดินทางทีมงานจัดเตรียมเตาไฟฟ้าปิ้งย่างชาบู แบบที่กำลังฮิตกันอยู่ในหมู่วัยรุ่นขณะนี้ พร้อมเครื่องเคียงหมูสไลซ์ ไส้กรอกผัก และน้ำซุป ให้อารมณ์แบบกำลังปิกนิกริมบึง

ไฟฟ้าที่ใช้มาจากการเสียบปลั๊กที่เต้าเสียบในรถ ที่มีอยู่สองตำแหน่ง ด้านท้ายห้องเก็บสัมภาระ และคอนโซลกลางเบาะนั่งแถวสอง กระแสไฟที่ ส่งไปยังเตา ไม่ต่างจากเสียบปลั๊กไฟบ้านเลยแม้แต่น้อย

ขนาดเตา 1,500 วัตต์ ไฟยังแรงดีไม่มีตก เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น พวกพัดลม ลำโพงบลูทูธ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก หรือจะเป็นไฟ แคมปิ้ง เสียบใช้งานได้สบายมาก








Advertisement

ใช้ไฟมากขนาดไหนก็ไม่กลัวว่าไฟจะหมด แค่กดปุ่มให้เครื่องยนต์ทำหน้าที่ เป็นโรงงานไฟฟ้า ปั่นกระแสไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ได้ทั้งยามขับอยู่หรือจอดนิ่งสนิท ได้ทั้งนั้น

ได้เวลาออกเดินทาง ‘ข่าวสด ยานยนต์’ ขับคู่กับน้องนักทดสอบรถยนต์สาวแห่งสำนักประชาชาติธุรกิจ ‘น้องต้า’ วุฒิณี ทับทอง โดยให้น้องเขาเป็นผู้ทดสอบก่อน ส่วนตัวเองขอไปนั่งที่เบาะหลัง สมมติตัวเองว่าเป็นผู้บริหารหนุ่ม

สัมผัสของการนั่งเบาะหลัง ตัวเบาะนั่งหนังแท้ลายเท่เนื้อแน่น แต่ตัวเบาะสั้นไปนิด ทำให้รองรับต้นขาไว้ไม่ได้ทั้งหมด

ดีแต่ว่าพื้นรถไม่ชันมาก และมีช่องวางเท้าอยู่พอสมควรให้เหยียดขาผ่อนคลายอิริยาบถได้

คอนโซลกลาง นอกจากมีเต้าไฟให้เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าได้แล้ว ยังมีช่องสำหรับ USB รวมถึงช่องแอร์สำหรับเบาะนั่งแถวหลังด้วย

ช่วงแรกทีมงานเน้นย้ำว่าให้กดปุ่ม EV เพื่อขับด้วยไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่ หลังจากที่ใช้ไฟฟ้าไปกับการปิ้งย่างชาบูกันไป พอสมควรแล้ว จะทำระยะทางได้เท่าไหร่

ซึ่งในสเป๊กว่ากันว่าทำได้ 50-55 ก.ม. และความเร็วสูงสุดที่ทำได้กับโหมดนี้อยู่ที่ 135 ก.ม.ต่อช.ม.

ส่วนวันที่ทดสอบไปถึงจุดหมายแรกทำความเร็วบนทางด่วนบ้างรถติดช่วงพื้นราบบ้างได้ระยะทาง 41 ก.ม. มีพลังไฟเหลือให้วิ่งได้อีก 2 ก.ม. น่าพอใจไม่น้อย

ผ่านไปครึ่งทางประมาณ 100 ก.ม. สลับมานั่งประจำตำแหน่ง คนขับ เบาะนั่งกระชับ ทัศนวิสัยมองไปข้างหน้าได้ไกล จากตัวรถที่สูง

หน้าจอกลางคอนโซลหน้าแสดงสถานะรถว่ากำลังใช้พลังงานอะไรอยู่ ส่วนหน้าจอข้อมูลที่เรือนไมล์โชว์ระบบ S-AWC ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่ถ่ายทอดกำลังอย่างอิสระ

กำลังช่วงตีนต้นที่มาจากมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ส่งกำลังไปที่ล้อแยกกันหน้า-หลัง ตัวหน้าให้กำลังสูงสุด 82 แรงม้า ส่วนตัวหลังให้กำลังสูงสุด 95 แรงม้า

ดูเหมือนไม่จี๊ดจ๊าดมากนักผิดไปจากการที่เคยทดสอบรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน

ด้วยรูปร่างสูงช่วยให้ประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำ ประกอบกับขนาดที่ไม่ได้ใหญ่จนเกินไป ยามต้องการเร่งแซงทำได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

ขึ้นทางด่วนมุ่งหน้าต่อเนื่องเข้า ถ.กาญจนาภิเษก รถเริ่มน้อย จัดหาความเร็วปลาย ช่วงความเร็ว 90-140 ก.ม.ต่อช.ม. มาเร็วต่อเนื่องช่วงล่างนิ่งสนิท

แต่พอเริ่มไต่เกิน 150 ก.ม.ต่อช.ม. กำพวงมาลัยให้กระชับขึ้นอีกนิดด้วยเพราะ รู้สึกหวิวเล็กน้อย อาจจะด้วยเพราะน้ำหนัก พวงมาลัยที่ค่อนข้างเบา

ระหว่างที่ทดสอบระยะทางประมาณ 100 ก.ม. สังเกตหน้าจอแสดงสถานะรถพบว่าส่วนใหญ่ตัวรถจะอยู่ในโหมด ‘ซีรีส์ ไฮบริด’ (SERIES HYBRID) คือเครื่องยนต์ปั่นไฟฟ้ามาที่แบตเตอรี่ ส่วนการขับเคลื่อนทั้งสี่ล้อ มาจากพลังงานไฟฟ้า

แต่มีบางครั้งที่กดคันเร่งหนัก เพราะต้องการเรียกความเร็วมา ใช้แบบด่วนๆ กำลังจากเครื่องยนต์ ที่มีอยู่ 128 แรงม้า จะเข้ามาช่วยเสริมที่ล้อหน้าในทันที เป็นสองพลังแข็งขัน ทำให้กำลังที่ได้สูงสุด อยู่ที่ 305 แรงม้า

ภาพรวมถือว่าเป็นรถที่ขับใช้งานในชีวิตประจำวันก็คล่องตัว ไปเที่ยวแบบปิกนิกยิ่งเหมาะ

กิตติพงศ์ ศรีเจริญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน