รายงานพิเศษ

มอบหนังสือ400โรงเรียน‘ปีที่ 12’ – หนังสือเหมือนปุ๋ย เวลา เราปลูกต้นไม้ก็ต้องใส่ปุ๋ย เช่นเดียวกับหนังสือช่วยให้ความคิดของเราเจริญเติบโตงอกงาม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือและการรักการอ่าน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงร่วมมือกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น มอบหนังสือที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนให้กับห้องสมุดโรงเรียน

ตามโครงการมอบหนังสือ “หนังสือเพื่อชีวิต และจินตนาการ” ผนวกหนังสือเสริมประสบการณ์ชีวิต โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 ที่ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่

ในงานมี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานส่งมอบป้ายสัญลักษณ์หนังสือให้กับห้องสมุดโรงเรียนจำนวน 400 แห่ง มูลค่า 7 ล้านบาท ให้กับ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งต่อหนังสือไปยังโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 400 แห่ง

โดยมี ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), อาทร เตชะธาดา กรรมการ ผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, ผู้บริหาร สพฐ., ผู้อำนวยการ และผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ในสังกัด สพฐ. จำนวน 20 คน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี รวมทั้งมีการเชื่อมต่อระบบ Zoom ผ่านจอ LED ขนาดใหญ่ ให้ผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ รับชมทางออนไลน์ด้วย

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผมมีโอกาส ไปสัมผัสโรงเรียนบางพื้นที่ เช่น จ.เชียงราย เห็นว่าหนังสือและห้องสมุดยังมีความสำคัญในพื้นที่ห่าง ไกลมากๆ เวลาที่เห็นสายตาเด็กๆ ได้เห็นหนังสือ เห็นความสนใจของเขา ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ

“ในปีนี้เป็นปีที่ 12 เราได้หารือกับทาง สพฐ.ในการคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสม ช่วยในการเสริมสร้างจินตนาการ โดยหนังสือที่คัดเลือก มี 3 ชุดหลัก คือ 1.นิทาน 2 ภาษา ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตรงกับสิ่งที่เราต้องการในสมัยใหม่ 2.หนังสือเพื่อชีวิตและจินตนาการ อันนี้ถือว่าสำคัญ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่เยอะขึ้น และ 3.บ้านเล็กในป่าใหญ่

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าเป็นหนังสือนานนับ 10 ปีแล้ว แต่เราเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้พร่ำสอน มันมีเรื่องของคุณธรรม เรื่องหลักคิดต่างๆ สะท้อนอยู่ ภาพรวมหนังสือ 3 ชุด เป็นการผสมผสาน ทั้งสมัยใหม่ จินตนาการ และหลักคิดเดิม ที่เชื่อว่ายังมีคุณค่าในสังคมสมัยใหม่อยู่ และเป็นเรื่องน่ายินดีว่า เรากระจายหนังสือต่างๆ ไปในหลายพื้นที่ที่มีความขาดแคลน พื้นที่ที่หนังสือมีความหมายกับพวกเขา” ดร.ทวีลาภกล่าว

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการสพฐ. กล่าวว่า ทางสพฐ.มีเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียน 400 แห่งที่จะได้รับหนังสือเข้าสู่ห้องสมุด โดยเลือกโรงเรียนที่มีความตระหนักและสนใจ รวมถึงเติมเต็มโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารให้มีโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาด้วย

“ผมเป็นหนึ่งคนที่มีวันนี้เพราะการอ่าน จำได้ว่าเมื่อเป็นนักเรียนในชนบท สมัยประถม เรามีหนังสือเรียนเพียง 1 เล่มต่อปี พอได้เรียนชั้นมัธยม เราเกิดแรงบันดาลใจว่าโตขึ้นเราจะหนีความยากจน หนีความลำบากของชนบท ก็ได้จากการอ่าน การมีจินตนาการ

“จริงๆ แล้วถ้าได้อ่าน จะได้เห็นทั้งแนวคิด การวิเคราะห์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญ ทรงบอกว่าการเรียนการศึกษาต้องสุจิปุลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) จึงจะเป็นต้นกำเนิดของการเรียนรู้และพัฒนาการได้อย่างแท้จริง” กล่าว

และว่า วันนี้เราได้หนังสือ ก็เหมือนเราได้ขุมทรัพย์ ที่เราจะส่งต่อขุมทรัพย์ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ครั้งนี้สู่มือนักเรียนทั่วประเทศ แล้วเราจะส่งเสริมให้นักเรียนได้รักการอ่าน ถ้านักเรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น

ขณะที่นายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กล่าวเสริมว่า ช่วงที่โรงเรียนปิดหรือมีการเรียนการสอนทางออนไลน์ นอกจากมอบหนังสือเล่มให้กับห้องสมุดโรงเรียนแล้ว ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้เพิ่มช่องทางอ่านฟรีผ่านออนไลน์ ทาง www.praphansarn.com จะมี E-Book เป็นชุดเดียวกับที่ส่งมอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนในปีนี้ โดยในเว็บไซต์จะมีการอ่านออกเสียงสำเนียงภาษาอังกฤษ เป็นสำเนียงที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษา เพราะเราต้องการเน้นให้เด็กคุ้นกับภาษาอังกฤษด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน