ชี้สร้าง‘เขื่อน’ปมธารน้ำแข็งถล่ม – วันที่ 9 ก.พ. เว็บไซต์อินเดียทูเดย์รายงานวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุธารน้ำแข็งหิมาลัยชนเขื่อนจนน้ำทะลักท่วมฉับพลันที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางภาคเหนือของอินเดียว่า โลกร้อนหรือการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดหายนภัยในรัฐอุตตราขัณฑ์ แม้ว่าสาเหตุของการที่ ธารน้ำแข็งแตกออกอยู่ระหว่างสอบสวน

เมื่อเดือนก.ค.ปี 2563 ผู้เชี่ยวชาญเตือนเกี่ยวกับการละลายของธารน้ำแข็งในพื้นที่นันทาเทวี ผลการวิจัยจากสถาบันวาเดียว่าด้วยธรณีวิทยาหิมาลัยแสดงว่าเกือบ 26 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งในพื้นที่นันทาเทวีจะหายไปใน 37 ปี

แต่นักวิทยาศาสตร์อีกฝั่งสันนิษฐานว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ กิจกรรมก่อสร้างเขื่อนและ การทำเหมืองเรือขุดที่ร่องสายน้ำใหญ่เพื่อให้ได้ทรายมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง นายรัจ ภากาต พาลานิชมัย นักวิจัยอิสระกล่าวว่า การสอบสวนในเบื้องต้นแสดงว่าหายนภัยดังกล่าวเกิดจากดินถล่ม ซึ่งเคยเกิดเหตุลักษณะนี้มาแล้วในปี 2559 แต่อาจจะส่งผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งล้วนบ่งชี้ว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวอย่างมาก ผู้คนคงไม่เสียชีวิตหากเราเลี่ยงสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในพื้นที่อ่อนไหว

ด้านบีบีซีรายงานความคืบหน้าการช่วยชีวิตเหยื่อว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาผู้สูญหายกว่า 170 คน พบศพแล้ว 26 ราย เชื่อว่าผู้ที่สูญหายส่วนใหญ่เป็นคนงานจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 แห่ง นายภานุดัต ไนร์ ตำรวจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ช่วยได้ 12 คน จากฝั่งอุโมงค์อีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. แต่อีก 34 คนยังติดอยู่ปลายอุโมงค์อีกด้าน ปฏิบัติการช่วยชีวิตเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคืออุโมงค์รูปตัวยูที่ยาวกว่า 2.7 กิโลเมตร สูง 20 เมตร

เร่งมือ – ทีมกู้ภัยพร้อมด้วยรถแทรกเตอร์พยายามกรุยทางเข้าอุโมงค์ที่ถูกโคลนและเศษซากกีดขวางในเขตชาโมลี รัฐอุตตราขัณฑ์ เมื่อ 9 ก.พ. เพื่อช่วยคนงานที่ติดอยู่ภายในหลังธารน้ำแข็งหิมาลัยถล่มแม่น้ำท่วมชุมชนฉับพลันมีผู้สูญหายกว่า 170 คน (เอเอฟพี)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน