วิธีรับยาใกล้บ้าน-เวิร์ก! – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า นโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาและผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดใน ร.พ. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา ข้อมูลถึงวันที่ 1 ม.ค. 2564 พบว่า มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง ร.พ. 141 แห่ง แบ่งเป็น ร.พ.ศูนย์ 33 แห่ง ร.พ.ทั่วไป 56 แห่ง ร.พ.ชุมชน 20 แห่ง ร.พ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 15 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง และสังกัดอื่น 12 แห่ง มี ผู้ป่วยเข้าร่วม 29,299 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 61-75 ปี รับยาผ่านร้านขายยาแล้ว 54,730 ครั้ง โดย ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์มีผู้ป่วยเข้าร่วมมากที่สุด 5,590 คน รับยาที่ร้านยา 8,673 ครั้ง

“ขณะนี้มีการเริ่มดำเนินงานรับยาผ่านร้านขายยาในรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาจะมีการสำรองยาไว้เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เมื่อแพทย์สั่งยา ข้อมูลใบสั่งยาจะถูกทบทวนโดยเภสัชกร และส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังร้านยาเพื่อจัดยาและจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เลย” นายอนุทินกล่าว

สำหรับโครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เริ่มเมื่อ เม.ย. 2563 มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน แต่จากสถานการณ์โรค โควิด- 19 ทำให้ประชาชนตอบรับบริการดังกล่าวอย่างดี จึงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติแผนงบประมาณปี 2564 ให้ สปสช. สนับสนุนค่าบริการให้กับ ร.พ.ในการจัดส่งยา ทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2563 – 9 ม.ค. 2564 มี ร.พ.เข้าร่วมโครงการ 217 แห่ง ผู้ป่วยรับบริการ 147,270 คน เกิดบริการรับยาทางไปรษณีย์จำนวน 176,924 ครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่รับบริการนี้มากที่สุด คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 41,999 ครั้ง นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจัดบริการทางไกล (Telemedicine) ร.พ. และจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยที่รับบริการนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน