รายงานพิเศษ

สมศ.รุกประเมินออนไลน์ฝ่า‘โควิด’ สถานศึกษาทั่วปท.ห้ามขอเอกสารเพิ่ม – จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามบริบทการจัดการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ สมศ.จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน โดยได้นำรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มาใช้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สมศ.ได้ประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 3,831 แห่ง แบ่งเป็นการศึกษาปฐมวัย 1,482 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2,070 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 199 แห่ง และวัตถุประสงค์พิเศษอีก 80 แห่ง พร้อมปรับแผนการประเมินระยะที่สอง ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในรูปแบบออนไลน์ เฉพาะสถานศึกษาที่ยื่นคำร้องให้ สมศ.เข้าไปตรวจเยี่ยม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้เรื่องการประเมินภายนอกให้กับสถานศึกษาผ่านโครงการ ส่งเสริมสถานศึกษา และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดแบบออนไลน์ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชมวีดิทัศน์ และดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนะนำ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า สมศ.ประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ 2564 ในรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งการประเมินคุณภาพภายนอกออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

การประเมินระยะแรก คือ การประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR (พิจารณาหลักฐานของ IQA ตามที่ปรากฏใน SAR เท่านั้น) โดยผลการประเมิน SAR จะมีระดับคุณภาพ 3 ระดับคือ ดี พอใช้ และปรับปรุง ขณะนี้ สมศ.กำลังอยู่ในช่วงของการประเมินระยะแรก ซึ่งเป็นการประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษาจำนวน 3,831 แห่ง แบ่งเป็นการศึกษาปฐมวัย 1,482 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2,070 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 199 แห่ง และวัตถุประสงค์พิเศษอีก 80 แห่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมิน SAR ก่อนที่จะจัดทำรายงานการประเมิน SAR เพื่อส่งไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดที่กำกับดูแลสถานศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ รูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 พบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา เพราะสอดรับกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงเมื่อสถานศึกษาพึงพอใจกับผลการประเมินในระยะแรก (ประเมิน SAR) แล้ว ซึ่งถือเป็นการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก 5 ปี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จากนั้นสถานศึกษาจะขอรับการประเมินคุณภาพภายนอกระยะที่สองหรือไม่ก็ได้ โดย สมศ.ได้เน้นย้ำกับผู้ประเมินว่า จะไม่มีการร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากทางสถานศึกษาในการประเมินจากการวิเคราะห์ SAR ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระแก่สถานศึกษาให้ได้มากที่สุด

ดร.นันทาอธิบายต่อว่า อีกสาระสำคัญหนึ่งของการประเมินคุณภาพภายนอกในปีนี้คือ การประเมินระยะสอง ซึ่งเป็นการประเมินจากการตรวจเยี่ยม (Site visit) หรือการลงพื้นที่ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตามความสมัครใจของสถานศึกษา เฉพาะสถานศึกษาที่ร้องขอให้ สมศ.เข้าตรวจเยี่ยม โดยมีผลประเมินคุณภาพ 5 ระดับคือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง ซึ่งหลังจากสถานศึกษาได้รับผลการประเมิน SAR อย่างเป็นทางการแล้ว และต้องการให้ สมศ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสามารถยื่นคำร้องมาที่ สมศ.ได้ ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจะอยู่ในช่วงเปิดภาคเรียน และใช้เวลาในการตรวจเยี่ยมเพียง 1 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ทำให้ สมศ.ต้องปรับเปลี่ยนการประเมินระยะที่สองให้เป็นการตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ ซึ่ง สมศ.ได้มีการกำหนดรูปแบบ และวิธีการให้ผู้ประเมินภายนอกวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสถานศึกษาที่ยื่นคำขอให้ สมศ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โดย ผู้ประเมินจะตรวจสอบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สถานศึกษาระบุไว้ใน SAR รวมทั้งเอกสาร หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องตามเกณฑ์ในการประเมินจากการตรวจเยี่ยม ตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนดไว้ โดยเป็นไปตามที่ผู้ประเมิน และสถานศึกษาได้มีการตกลงร่วมกันตามที่แจ้งในตารางนัดหมาย

“สมศ.ได้เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ให้กับสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้านการอาชีวศึกษา โดยให้สถานศึกษาสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชม วีดิทัศน์ และดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมิน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประเมินคุณภาพภายนอกอย่างเข้มข้น ด้วยการ ฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ อาทิ การใช้งานระบบ Automated QA (AQA) การใช้ระบบ ONESQA-V ในรูปแบบของโมบาย แอพพลิเคชั่น และระบบปฏิบัติการ อื่นๆ พร้อมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ และระบบต่างๆ เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เป็นการประเมินคุณภาพภายนอกแบบออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น” ดร.นันทากล่าวสรุป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน