ชำแหละกองทัพพาณิชย์-เงินทอนนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกลางดึกวันที่ 16 ก.พ. กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะรมว.กลาโหม ล้มเหลวและบกพร่อง ปล่อยปละละเลยในการกำกับดูแลหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม จนเกิดความ เสียหายต่อประเทศชาติ

หลังโศกนาฏกรรมกราดยิงโคราช หนึ่งในคำสัญญาปฏิรูปกองทัพคือการจัดการกับกองทัพพาณิชย์ ที่เกี่ยวพันกับสวัสดิการและการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ สถานพักตากอากาศล้วนตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ เฉพาะที่กลาโหมถือครองอยู่ 6.25 ล้านไร่ หรือครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุที่มี

เฉพาะกองทัพบกถือครองที่ราชพัสดุ 4.7 ล้านไร่ คำถามคือ ครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งประเทศที่กลาโหมครอบครอง แล้วถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสวัสดิการทั้งในเชิงภายในและเชิงธุรกิจ เกิดประโยชน์คุ้มค่าต่อประเทศชาติหรือไม่

31 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ The Matter เปิดเผยข้อมูลว่าได้ใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พยายามขอข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังของธุรกิจกองทัพกว่า 10 เดือน ที่ได้รับมาเป็นเพียงรายได้เฉลี่ยของกิจการต่างๆ ได้แก่ สถานพักตากอากาศ 5 แห่ง สนามกอล์ฟ 36 แห่ง สนามมวย 1 แห่ง สนามม้า 1 แห่ง แถมไม่ให้ข้อมูลสนามมวยอีก 3 แห่ง สนามม้าอีก 1 แห่ง ที่อ้างว่าปิดตัวไปแล้ว

นี่คือการอำพรางตัว ไม่ยอมเปิดเผยงบการเงินของกิจการเหล่านี้ย้อนหลัง เปิดเพียงรายได้เฉลี่ย 5 ปี 724 ล้านบาท และรายจ่ายเฉลี่ย 5 ปี 649 ล้านบาท เห็นได้ชัดว่าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้

ซ้ำสะท้อนถึงความด้อยประสิทธิภาพในการสร้างผลประโยชน์ เพราะน่าจะเป็นการใช้ที่ดินราชพัสดุเกือบ 1 ล้านไร่ แต่เมื่อเอา รายได้เฉลี่ยมาหักลบกับรายจ่ายเฉลี่ย มีผลต่างเพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าที่ดิน 1 ล้านไร่ ได้กำไรคร่าวๆ 75 ล้านบาท ตกไร่ละ 75 บาทเท่านั้น

การอ้างใช้ที่ราชพัสดุเพิ่มสวัสดิการภายใน อย่างสนามกอล์ฟ 33 แห่ง จาก 36 แห่ง แปลว่า 33 แห่งนี้ ไม่ต้องทำสัญญาเช่ากับ กรมธนารักษ์ ตกลงแล้วนายพลของกองทัพไทยมีอาชีพเป็นนักรบหรือเป็นนักกอล์ฟ ถึงต้องมีสนามกอล์ฟมากถึง 33 สนาม

อย่าอ้างว่าเป็นสวัสดิการภายในกองทัพ เพราะเป็นสวัสดิการให้กับนายพลหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปตีกอล์ฟเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ เคยตระหนักถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูญไปกับที่ดินเหล่านี้หรือไม่ การกระจายตัวของสวัสดิการท่าเทียมเป็นธรรมหรือไม่








Advertisement

เคยลงไปดูทหารชั้นประทวน เคยได้ยินที่เขาสะท้อนหรือไม่ว่า ‘เงินหมด ยศยังอยู่กับที่’ นายทหารเหล่านี้ต้องมีอาชีพเสริม ขับแท็กซี่ ขับวิน เป็นการ์ดตามผับบาร์ ฮิตสุดก็ขายข้าวหน้าแฟลต แล้วยังถูกบังคับขู่เข็ญให้สมรู้ร่วมคิดทำผิดกฎหมาย เซ็นชื่อรับ เบี้ยเลี้ยงแต่เงินเข้ากระเป๋านาย

เอื้อเอกชนทำเหมืองหิน

กองทัพเรือก็มีการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในเชิงธุรกิจ ขอเรียกว่า ‘สวัสดิการเชิงธุรกิจแบบสัมปทาน’ ในโครงการทำเหมืองหินและโรงโม่หิน ที่ตั้งโครงการอยู่ที่เขาวังปลา อ.สัตหีบ บนเนื้อที่ 208 ไร่เศษ มีพฤติกรรมเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่ง เชื่อว่ามีการแบ่งปันผลประโยชน์กับนายทหารระดับ พล.ร.อ.

ตั้งแต่ปี 2556 กองทัพเรือขอประทานบัตรเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ อายุสัมปทาน 10 ปี สิ้นสุดธ.ค. 2566 โดยกรมสวัสดิการกองทัพเรือทำสัญญาแบบปีต่อปีกับเอกชนรายหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2557-2561

จนมาปี 2562 กรมสวัสดิการกองทัพเรือ ที่มีอดีต ผบ.ทร. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นประธาน อนุมัติให้เอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน เหตุที่เลือกรายใหม่นี้ เพราะมีการเสนอผลประโยชน์ให้กองทัพเรือดีกว่ารายเดิมมาก

แต่หลังดำเนินการ 1 ปี เอกชนรายนี้ไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ต้องปรับ 40 ล้านบาท ยกเลิกสัญญาและหารายใหม่มาแทน แต่กรมสวัสดิการกองทัพเรือกลับให้เอกชนรายนี้ต่อสัญญาเป็นปีที่สอง ส่วนหนี้ 40 ล้านบาทให้ผ่อนชำระ 38 งวด จ่ายงวดที่หนึ่ง 5 ล้านบาท ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ชัดเจนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบนที่ราชพัสดุ รวมถึงน่าจะเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้พล.ร.อ. บางคน พี่น้องประชาชนถึงสงสัยว่าทำไมนายพลถึงมีทรัพย์สินมากมายหลังเกษียณ ร่ำรวยเกินเงินเดือนรายได้

จัดซื้อเรือดำน้ำ-กกน.แพงเกินจริง

การแพร่ระบาดของโควิด ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงประการหนึ่ง คือการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมาก ปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ถึง 4 แสนล้านบาท หรือเกือบ 20% เชื่อว่าปี 2564 คงไม่ต่างจากปี 2563 เมื่อรายได้ลดก็ต้องปรับลดงบประมาณ

วันนี้ประชาชนรอคำตอบ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพูดให้ชัดเรื่องงบกลาโหม ขณะที่ประเทศประสบความยากลำบากทางการเงินการคลัง ประชาชนเดือดร้อน สังคมตั้งคำถามว่าตกลงแล้วอาวุธยุทโธปกรณ์กับกระดาษทิชชู มีความจำเป็นเหมือนกันได้อย่างไร แล้วถ้าทิชชูหมดเอาน้ำล้างแทนได้หรือไม่

ที่ผ่านมากลาโหมใช้จ่ายงบไม่โปร่งใส มีการทุจริต โกงกินเงินภาษีประชาชน น่าเคลือบแคลงตั้งแต่กางเกงในไปจนถึงเรือดำน้ำ โครงการจัดซื้อชุดลำลองทหารเกณฑ์ กองทัพตั้งราคาไว้สูงกว่าที่ขายปลีกในช้อปปี้ เป็นเงินกว่า 90 ล้านบาท

เริ่มปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นมา จัดซื้อเสื้อคอวี 130 บาท ช้อปปี้ขาย 80 บาท เฉพาะรายการนี้รัฐจ่ายแพงเกือบ 39 ล้านบาท กางเกงขาสั้นซื้อกว่า 313,000 ตัว ตัวละ 365 บาท แพงกว่าช้อปปี้ที่ขาย 120 บาท รวมที่จะซื้ออีก 31,700 ตัว รัฐต้องจ่ายแพงเกือบ 85 ล้านบาท

รองเท้า Jungle Boot กำลังจะจัดซื้อกว่า 218,000 คู่ ราคา 1,732 บาท ช้อปปี้ขาย 600 บาท สรุปรัฐบาลจ่ายแพงไปเกือบ 250 ล้านบาท ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ถุงเท้าต้านแบคทีเรีย ก็แพงกว่าที่ช้อปปี้ กางเกงในจัดซื้อแล้ว 13,650 ตัว ราคา 68.50 บาท ถูกกว่าราคากลาง 80 สตางค์

สรุปทั้ง 7 รายการ ทั้งที่ซื้อแล้วและกำลังดำเนินการ รัฐบาลจ่ายเงินไปกว่า 702.4 ล้านบาท หากซื้อตามราคาช้อปปี้จะจ่ายเพียง 285 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่ารัฐต้องจ่ายแพงกว่าซื้อปลีกในช้อปปี้ถึง 417 ล้านบาท ตรวจสอบขอใบเสนอราคาจากผู้ผลิตบางรายการก็ ถูกกว่าช้อปปี้

ประชาชนสงสัยว่าส่วนต่างราคาอยู่ที่ใคร ที่คุณวิโรจน์ เคยตั้งคำถามกางเกงในมีไว้ใส่หรือไว้กินนั้น ปีนี้ผมเข้าใจแล้วว่า สำหรับคนทั่วไปกางเกงในมีไว้ใส่ แต่สำหรับนายกฯคนนี้กางเกงในมีไว้ กินจริงๆ

กินส่วนต่างค่าครุภัณฑ์-ยุทธภัณฑ์

กรณีครุภัณฑ์เครื่องมือช่างก็จัดซื้อสูงกว่าท้องตลาด กล้องสำรวจวัดระยะและมุม TOPCON ขายกัน 320,000 บาท กองทัพซื้อ 431,500 บาท, รถยกไฮดรอลิก รุ่นเดียวกันนี้ขายกันที่ราคา 38,900 บาท กองทัพซื้อ 91,100 บาท, เครื่องวัดความเร็วรอบ Fluke ขายกัน 18,000 บาท กองทัพซื้อ 24,110 บาท รวม 3 รายการ จ่ายแพงกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาดคิดเป็น 47%

ทั้งหมดเชื่อว่าเอกชนไม่ได้ขายแพงเอง แต่ต้องขายแพงตามราคาที่มีใครบางคนต้องการ หากเป็นบริษัทเอกชนนอกจากปลดผู้บริหารคนนี้ ยังต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยซ้ำไป

การจัดซื้อยุทธภัณฑ์โดยกรมการทหารช่าง จัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืนแบบตาเดียว Night Vision Scope ซื้อมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2563 โดยมีผู้ชนะรายเดียวตลอด และน่าเคลือบแคลงเพราะชนะประมูลที่ราคากลางพอดีที่ 495,000 บาท

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ไปจนถึงการจัดซื้อครั้งแรกของปี 2563 จะเป็นแบบ e-bidding หรือใช้การประกวดราคา แต่อีก 3 ครั้งหลังปี 2563 เป็นการจัดซื้อเฉพาะเจาะจงทั้งหมด โดยอ้างหน่วยบัญชาการรบพิเศษต้องการใช้ยี่ห้อเดิม

เลือกเอายี่ห้อ NEWCON ที่ผู้ขายโฆษณาว่าเป็นมาตรฐานกองทัพสหรัฐ สเป๊ก อุปกรณ์ติดตั้ง อุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมค่าขนส่ง ประกันภัยและภาษี ราคาอยู่ที่ 261,000 บาท แปลว่ากองทัพซื้อแพงกว่าราคาปลีกถึง 47%

กล้อง Night Vision มีการกินกันถึง 78 ล้านบาท สเป๊กเพียง ข้อเดียวที่ตกไป คือการกำหนดค่าความละเอียดของเลนส์ ซึ่งกองทัพสหรัฐใช้กันที่ 64 line pair/mm แต่ของเรากำหนด 70 line pair/mm แต่เป็นไปไม่ได้เลนส์ชิ้นนี้จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นถึง 47% ทั้งที่แวดวงยุทธภัณฑ์ยอมรับว่า 64 หรือ 72 line pair/mm เป็นคุณภาพระดับเดียวกัน

สรุปคือการตั้งสเป๊กกีดกัน 1.ให้ผู้ร่วมประมูลเสนอตัวอย่างภายใน 5 วันหลังเสนอราคา 2.เปลี่ยนเลนส์จาก 64 เป็น 70 line pair/mm โดยไม่จำเป็น และ 3. จัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding มา 3 ปี อยู่ๆ เปลี่ยนเป็นแบบเฉพาะเจาะจง จนเกิดการกินส่วนต่างราคาถึง 47% โดยจัดซื้อถึง 332 ชุด คิดเป็นเงิน 78 ล้านบาท

รถบัส 7 โครงการทำรัฐสูญงบ 650 ล.

การจัดซื้อรถโดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศ มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบประกวดราคาที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าทุจริตหรือไม่ กรมการขนส่งทหารบกจัดซื้อจัดจ้างรถบัสขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2558-2563 ทั้งหมด 7 สัญญา 429 คัน รวม 2,200 ล้านบาท

ปี 2563 ล่าสุด เป็นการจัดซื้อรถบัสแบบที่ 7 แบ่งเป็น 2 โครงการ 100 คัน 448 ล้านบาท และ 12 คัน 59 ล้านบาท ทั้ง 7 โครงการมีผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด เพียงบริษัทเดียว

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้ง 7 โครงการนี้มีข้อน่าสงสัย การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ การสืบราคากลาง และการกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ทั้ง 7 โครงการมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน จึงขอยกตัวอย่างปีล่าสุด คือปี 2563 การจัดซื้อรถบัสแบบที่ 7 จำนวน 112 คัน ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ สงสัยว่ากองทัพพยายามให้บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต ชนะประมูลอย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่

ในขั้นตอนสืบราคา สองบริษัทที่อยู่ในกระบวนการกำหนดสเป๊ก ไม่ได้เข้ามาร่วม ส่วน 3 บริษัทที่เข้ารวม บริษัท อิทธิพร, หจก.ทีไอพี ออโต้พาร์ท และ ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ มีผู้รับมอบอำนาจจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบุคคลคนเดียวกัน

เมื่อประกวดราคามีผู้ยื่นเพียง 2 ราย คือ บริษัท อิทธิพร และ หจก. ทีไอพี ซึ่งทั้งสองบริษัท มีผู้ถือหุ้นนามสกุลเดียวกัน ที่อยู่ที่อยู่เดียวกัน ที่ตั้งสาขาที่สองที่เดียวกัน

การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความผิดปกตินี้ ใช้งบ 2,200 ล้านบาท มี ผู้ชนะทั้ง 7 โครงการเพียงรายเดียว แม้จะเป็นอำนาจจัดซื้อของ ผบ.ทบ. หรือปลัดกลาโหมตั้งแต่ ปี 2557-2563 เปลี่ยนผบ.ทบ.แล้ว 6 คน ปลัดกลาโหม 6 คน แต่รมว.กลาโหมมีเพียงสองคนเท่านั้น คือ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้ง 7 โครงการนี้ หากเป็นอย่างที่กล่าวกองทัพบกทำให้รัฐสูญเสียเงินงบถึง 450-650 ล้านบาท ขนาดประกวดราคา หากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง กองทัพจะซื้อแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นขนาดไหน

สงสัยตู่รับเงินทอนเรือดำน้ำ

การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การตรวจสอบราคาเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะกรณีเรือดำน้ำที่อ้างว่าเป็นจีทูจี ปรากฏพฤติกรรมชวนให้สงสัยว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำแบบเฉพาะเจาะจงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดซื้อครั้งนี้แน่นอน

ตามข่าวในข่าวสด ออนไลน์ ภาคภาษาอังกฤษ 28 ก.ย.2563 มีการเผยแพร่เอกสารจดหมายฉบับหนึ่ง ลงนามโดย อดีตผบ.ทร. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ที่ส่งถึงทางการจีน Mr. Xu Zhanbi State Administration for Science Technology and Industry for National Defense ลงวันที่ 24 ก.ย. 2563 หรือ 6 วันก่อนอดีต ผบ.ทร.จะเกษียณ ซึ่งระดับนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตรหลายท่านบอกกับตนว่าเรื่องนี้มีมูล

เนื้อหาในจดหมาย ชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าทำไมอดีต ผบ.ทร.ถึงต้องเร่งรัดให้จีนมาเซ็นข้อตกลงก่อนที่ตนเองจะเกษียณ และแสดงให้เห็นถึงความพยายามจะเซ็นข้อตกลง เพื่อให้มีผลผูกมัดกับงบประมาณปี 2565 เป็นผู้ซื้อแท้ๆ กลับไปอ้อนวอนผู้ขาย ในจดหมายถึงขนาดแนะนำจีนให้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนในไทย เป็นผู้แทนลงนาม เพื่อให้ทันภายใน 30 ก.ย.

ผมเชื่อว่าที่ พล.ร.อ.ลือชัย ทำไป เป็นไปตามความต้องการของรมว.กลาโหม เหมือนครั้งซื้อเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง ทหารบกออกมาให้ข่าวทหารเรือยังไม่ทราบเรื่องว่าตัวเองจะของบซื้อเรือดำน้ำ เพราะเป็นความต้องการซื้อของ พล.อ.ประวิตร รมว.กลาโหมขณะนั้น หลังเป็นข่าวอีกหนึ่งสัปดาห์ พล.ร.อ.ลือชัย จึงค่อยแถลงข่าวและบินไปจีน

หากจดหมายนี้มันเป็นเรื่องจริง พล.อ.ประยุทธ์ คงจะห้ามประชาชนไม่ให้คิดกันไม่ได้ ว่าโครงการเรือดำน้ำนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนในเงินทอนแน่ๆ

เท่านี้ก็น่าจะสามารถแสดงให้พี่น้องประชาชนไม่มากก็น้อย เห็นตรงกันได้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหลือความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯและรมว.กลาโหมได้อีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน