สัปดาห์วันไตโลก รับความรู้ผ่านไลฟ์สด – สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2564 ผ่านเฟซบุ๊ก ออนไลน์ ‘สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย’ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.30 น.

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า การจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2564 ในปีนี้ภายใต้คำขวัญ ‘ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว’ โดยกิจกรรมวันไตโลกจะจัดในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของสมาคม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นครั้งแรก หลังจากปีที่แล้ว เราไม่ได้จัดงานสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับปีนี้ สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันแล้วว่า สถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบันมีความรุนแรงต่อเนื่องสอดคล้องกับการทำวิจัยพฤติกรรมการบริโภคเค็มครั้งล่าสุดในปี 2564 พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา เกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำวันละ 2,000 มิลลิกรัม เกือบ 2 เท่า

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่างๆ ของยาสมุนไพรหลายชนิดในช่วงนี้ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เป็นประเด็นที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ขอยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพร ตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้

เนื่องจาก 1.ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต

2.สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก

3.สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่น ยาแก้ปวดสเตียรอยด์

4.สมุนไพรและพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรงหรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ (Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง (Star fruit) ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน, ปอกะบิด (East Indian screw tree) ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ (Morinda citrifolia L) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็ไม่ควรบริโภคเพราะจะมีผลต่อไต

สำหรับสมุนไพรอีกชนิดที่กำลังเป็นที่นิยม คือถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย และมีผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชี่ยลมีเดีย สมาคมขอยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย

ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เป็นถั่งเช่าจากทิเบต(Cordyceps sinensis) ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีและผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว

โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองกินยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้นน่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้จัดงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต โดยแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังดูแลสุขภาพของตนเองไม่ดีพอ สปสช.จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

ทั้งนี้ในปี 2564 สปสช.มีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายลงทะเบียนรับการรักษารวม 64,639 ราย ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาล 9,720 ล้านบาทเศษ ซึ่งแสดงให้เห็น ว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้ อย่างไรก็ดีสิทธิการรักษาของแต่ละกองทุน จะมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ผู้ป่วยแต่ละสิทธิเข้าถึง การให้บริการไม่เหมือนกัน ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงมีแนวทางบูรณาการโรคไตเรื้อรังให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุนสุขภาพ ในส่วนของ สปสช. นั้น ก็ได้เห็นชอบในหลักการที่จะบูรณาการระบบบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการเข้าถึงยาและการสนับสนุนการดูแลภาวะโรคร่วมของผู้ป่วยโรคไต สปสช. ยังคงมุ่งมั่นยึดหลักในการช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงยาที่ใช้ในการรักษาโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่าย นโยบายด้านยาระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การบริหารจัดการยาโดยรวมของ สปสช. แบบรวมศูนย์ ส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายาอย่างสมเหตุสมผล ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดด้านงบประมาณให้กับประเทศ ประมาณ 7-8 พันล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง และทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน น.อ.หญิง พญ.วรวรรณ ชัยลิมป มนตรี ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เมื่อมีผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยและมีผู้มีภาวะเสี่ยงมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ มีการป่วยเป็น โรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นและมีอายุน้อยลงทุกๆ ปี ทำให้ภาครัฐและประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น เมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต

แต่เราสามารถเลี่ยงความทรมานนี้ได้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้ โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาสิ่งปกติในร่างกาย

หากพบสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น 1.ปัสสาวะผิดปกติ เช่นสีผิดปกติ มีลักษณะเหมือน น้ำล้างเนื้อ หรือสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟองมาก 2.ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่ปัสสาวะ บ่อยกว่าปกติ 3-4 ครั้งขึ้นไป 3.ปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย 4.มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาจมีความผิดปกติบริเวณนิ่วในไต ไตอักเสบ และ 5.มีความดันโลหิตสูงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน