สถานีสนามไชย – คติ สัญลักษณ์ทางศาสนาที่เป็นแนวคิดสถาปัตยกรรม และเป็นที่ชื่นชมในความงดงามชิ้นหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ปี พ.ศ.2564 ก็คือ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย อยู่ระหว่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังกับโรงเรียนวัดราชบพิธ ไม่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเท่าใดนัก

แนวความคิดเบื้องต้นของการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายนี้ มาจาก สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของกรุงมอสโก รัสเซีย ที่สถาปัตยกรรมภายในตกแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์บรรจุเรื่องราวของประเทศ การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ ฯลฯ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ กรุงมอสโก แตกต่างจากสถานีรถไฟใต้ดินในเมืองใหญ่ของยุโรป

แนวคิดของงานสถาปัตยกรรมภายในแห่งนี้สอดประสานกับแนวคิดของคติและสัญลักษณ์ของพระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาชราชวังนั้นเปรียบได้ดังเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของบรรดาเทวดา ต่อมาถูกเทวดากลุ่มที่ขึ้นไปอยู่ทีหลังเข้าครอบครองสวรรค์แทนโดยหลอกให้ดื่มสุราหรือน้ำคันธบาล จนเมามายและจับโยนมาสู่เชิงเขา

บรรดาเทวดาที่ถูกโยนตกลงมาเหล่านี้จึงพากันให้สัตย์สาบานว่าจะไม่ดื่มสุราหรือน้ำคันธบาลอีกต่อไป เทวดาเหล่านั้นจึงถูกเรียกว่า อสูร แปลว่า ผู้ไม่ดื่มน้ำเมา

ด้วยความที่เป็นเทวดา อานิสงส์แห่งกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้จึงเกิดเป็นเมืองที่มีความงดงาม รุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ที่ตนเคยอยู่ เรียกว่า อสูรภพ

เมืองอสูรภพนี้มีคำบรรยายไว้ในอรรถกถา ลวกชาดก ว่าเป็นเมืองที่อยู่ใต้เขาพระสุเมรุลึกลงไป 8,400 โยชน์ มีเมืองของอสูรอยู่ 4 เมือง มีพญาอสูรอยู่เมืองละ 2 คน มีปราสาทราชมณเฑียร ประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ และทองคำ มีประตูเมืองถึง 1,000 ประตู มีสระที่งดงามเหมือนสระนันทนโบกขรณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลางของเมืองอสูรภพมีต้นแคฝอยที่ทำให้พวกอสูรรู้ว่า พื้นที่นี้ไม่ใช่สวรรค์ที่ตนเคยอยู่ และเมื่อดอกแคฝอยบาน พวกอสูรก็จะยกกำลังขึ้นไปรบกับพวกเทวดาเพื่อชิงสวรรค์กลับมา

การออกแบบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสนามไชยจึงเป็นสัญลักษณ์ที่จำลองเขาพระสุเมรุทั้งหมดเอาเมือง อสูรภพมาอยู่ใต้ศูนย์กลางของจักรวาลคือ พระบรมมหาราชวัง เป็นการใช้แนวคิดของคติและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเมืองโบราณมาเป็นปัจจุบัน

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน