“นักรักษาศีลบางคน แม้แต่มดแมงก็ไม่ฆ่า แต่โมโหมาจับปืนยิงเพื่อนมนุษย์อะไรทำนองนี้ แสดงว่าเราปูพื้นฐานในระดับมนุษย์ไม่สมบูรณ์” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

ปี พ.ศ.2548 “หลวงพ่อวิชา รติยุตโต” พระเกจิย์ชื่อดังวัดชอนทุเรียน อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ จัดงานผูกพัทธสีมา จัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อหารายได้สมทบทุน

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญรูปไข่ปั๊มมีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ มีขอบรอบ ตรงกลางมีรูปนูนหลวงพ่อวิชานั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระขอม เหนือขอบล่างมีอักษรไทย เขียนคำว่า “หลวงพ่อวิชา รติยุตโต”

ด้านหลังเหรียญ ใต้ขอบด้านบนมีอักษรไทย เขียนว่า “ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา” กำกับด้วยดอกจัน (หัว-ท้าย) ตรงกลางเหรียญมียันต์นะ มหาอำนาจ กลางยันต์มีอักขระขอม และมีนะมหาอุดอยู่ด้านบน ใต้อุณาโลมเป็น อุ โองการ และเหนือขอบล่างมีอักษรไทย เขียนว่า “วัดชอนทุเรียน อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พ.ศ.๒๕๔๘” ราคาเช่าบูชายังไม่สูงนัก

“หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.หนองคาย วัตถุมงคลสร้างออกมาหลายรุ่นหลายแบบ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ “เหรียญหลวงพ่อพระใสรุ่นแรก” จัดสร้างโดย พระเวทีวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เมื่อปี พ.ศ.2485 ถือเป็นเหรียญหลวงพ่อพระใสรุ่นแรก

ลักษณะเป็นเหรียญทรงสามเหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญรูปหลวงพ่อ พระใส บนพระแท่น มีคำว่า “พระใส” อยู่ฐานล่างพระแท่น เส้นขอบซ้อนด้านในคมชัด

เช่นเดียวกับเส้นซ้อนข้างศอกซ้าย จุดกลมและเส้นแตกข้างเข่าซ้าย เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเหรียญรุ่นนี้ ด้านหลังเหรียญ เส้นยันต์หนาใหญ่คมชัด มีจุดกลมข้างในหัวตัว อุ เป็นจุดสังเกตสำคัญ ด้วยความงดงามโดดเด่น ทำให้เหรียญรุ่นแรก ปี 2485 มีค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ

“พระราชอุดมมงคล” หรือ “หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี สมญาเทพเจ้าของชาวมอญ เป็นที่พึ่งจิตวิญญาณผู้นำของชาวมอญพลัดถิ่น ชื่อเสียงด้านวัตถุมงคลเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีทั้งลูกประคำ พระผง ฯลฯ

โดยเฉพาะ “เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2511” เป็นที่นิยมอย่างสูง หาดูหาเช่ายากมาก ลักษณะเป็นเหรียญกลม หูเชื่อม ยกขอบหน้า-หลัง เนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวง จารึกอักษรไทย “หลวงพ่ออุตตมะ” ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปพระเจดีย์ 3 องค์ ด้านบนเป็นอักขระขอม ด้านล่างเขียนว่า “กาญจนบุรี” และระบุปีที่สร้างคือ “๒๕๑๑”

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน