‘เมดพาร์ค’ร.พ.น้องใหม่ – ปี 2563 โควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนหนักหน่วงในวงการสาธารณสุขเมืองไทย โดยเฉพาะ “โรงพยาบาลเอกชน”

แต่ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะขณะที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรกในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว โรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark Hospital) ก็ถอดรหัสสถานการณ์อย่างเข้มข้น อุดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ก่อนเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2563 ตั้งเป้าเจาะคนไข้ตลาดบนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมวางเป้าหมายขึ้นแท่นโรงพยาบาลอันดับ 1 ในอาเซียน

ที่มาของเมดพาร์คนั้น นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ถ่ายทอดให้ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารมติชนได้รับทราบ ระหว่างคณะผู้บริหารมติชนเยี่ยมชมโรงพยาบาล ว่า เกิดจากความต้องการของคณะแพทย์ และ บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการอุดจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขเมืองไทย ซึ่งเรื่องหนึ่งคือการกระจายศูนย์การรักษาไปอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดูแลรักษาคนไข้ เมดพาร์คจึงเน้นการรวมศูนย์ เพื่อทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการดีขึ้น

เมื่อเปิดตัวท่ามกลางสถานการณ์ยากอย่างโควิด-19 เมดพาร์คที่ใช้งบลงทุนไปราว 7,000 ล้านบาท จึงไม่ใช่แค่เดิน แต่ต้องเร่งสปีดเต็มที่ พร้อมชูความแข็งแกร่งทุกด้าน เพื่อครองใจคนไข้ระดับบน

เน้นรักษาโรคยากและโรคซับซ้อน

“โรคยากไม่ได้หมายถึงโรคหายาก แต่คือโรคหายยาก และต้องการทีมงานหมอหลายแผนกช่วยกัน บางทีคนไข้เป็นไข้เฉยๆ หลายวัน โดยวินิจฉัยไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร ก็ถือว่าเข้าขั้นโรคยากแล้ว ส่วนโรคซับซ้อนคือมีหลายอย่างปนกัน บางคนมีพื้นฐานโรคของตัวเองอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน แล้วบางทีเป็นโรคอื่นเข้ามา ก็ต้องเตรียมการต่างๆ ให้เรียบร้อย หรือเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ ก็ต้องหาวิธีรับมือและรักษา เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมอคนเดียวเก่งแล้วจะรักษาได้หมด” นพ.พงษ์พัฒน์ อธิบาย

เมื่อชูจุดแข็งที่การรักษาโรคยากและโรคซับซ้อน เมดพาร์คจึงมีศูนย์การแพทย์กว่า 30 อาทิ ศูนย์มะเร็ง, ศูนย์มะเร็ง และรังสีศึกษา, ศูนย์หัวใจ, ศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์, ศูนย์ไตเทียมแบบห้องส่วนตัว, ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, ศูนย์โรคติดเชื้อ, คลินิกศัลยกรรมประสาท, คลินิกผู้สูงวัย เป็นต้น ซึ่งศูนย์ติดเชื้อของที่นี่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าวมากเป็นอันดับต้นของโรงพยาบาลเอกชนเมืองไทย พร้อมรักษาความเป็นส่วนตัวของคนไข้สูงสุด อย่าง ศูนย์มะเร็ง ที่สามารถขับรถมาจอดหน้าศูนย์ เพื่อให้คนไข้ตรงเข้ารับการรักษาได้ทันทีโดยไม่ต้องพบปะใคร

เมดพาร์คยังลงทุนกับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ไปราว 1,600 ล้านบาท เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ดีที่สุดมาใช้

“หมออยากได้อะไร อยากรู้ผลอะไร ต้องสามารถทำได้เลยและต้องรู้ผลเร็วด้วย” เอ็มดีเมดพาร์ค ย้ำ ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางการแพทย์ดังกล่าว จึงสะท้อนผ่านห้องแล็บที่ใช้ระบบอัตโนมัติเป็นหลัก ใช้คนสัมผัสน้อยสุด สามารถตรวจผลเลือด ชิ้นเนื้อ และเชื้อโรคต่างๆ ได้ภายในเวลาที่ช้าสุดก็เพียงไม่กี่ชั่วโมง

และเพราะ “เวลา” ที่เพียงแค่เสี้ยววินาทีก็มีผลต่อชีวิตของคนไข้ แผนกฉุกเฉินของเมดพาร์คจึงมีเครื่องซีที สแกน (CT Scan) เพื่อรองรับคนไข้อาการหนักที่ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียด หรือคลินิกทันตกรรมที่มีห้องผ่าตัดอยู่ภายใน ไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่คนไข้ทำฟันแล้วเกิดอาการแทรกซ้อน

ศูนย์รวมแพทย์ระดับหัวกะทิ

เมื่อตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำอันดับ 1 ของอาเซียน เมดพาร์คจึงต้องระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาร่วมทีม เฟ้นหาแพทย์มือฉกาจทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ทำให้เมดพาร์คมีแพทย์รวมแล้วกว่า 300 คน โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.สิน อนุราษฎร์ อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนระดับไฮเอนด์ของไทย เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมดพาร์ค

“จะรักษาโรคยากและโรคซับซ้อนได้ต้องมีทีมแพทย์ที่เก่ง เราจึงมีทีมแพทย์ที่เป็นอเมริกัน บอร์ด ประมาณ 75% เพราะฉะนั้นเวลามีเคสยาก เราก็จะปรึกษาแพทย์ได้ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องได้เลยในโรงพยาบาล” นพ.พงษ์พัฒน์ขยายความ

จุดเด่นอีกอย่างของเมดพาร์คคือเปิดให้ทีมแพทย์ได้ถือหุ้น เพื่อสร้าง “ความเป็นเจ้าของ” ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท นอกจากจะมีผู้ถือหุ้นหลักอย่าง บมจ.โรงพยาบาลมหาชัย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 42% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ยังมีทีมแพทย์ของเมดพาร์ค ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 25% คิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท อีกด้วย

ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“เนื่องจากเรามาทีหลัง จึงต้องอยู่ในยุทธภูมิที่เด็ด ต้องมีคนเห็น” นพ.พงษ์พัฒน์เล่าถึงอีกหนึ่งจุดแข็งของเมดพาร์ค

“ยุทธภูมิเด็ด” ที่ว่า คือการตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) แห่งใหม่บนถนนพระราม 4 ที่เดินทางสะดวกด้วยรถยนต์ส่วนตัวและคมนาคมสาธารณะ สร้างอาคาร 25 ชั้น พื้นที่ใช้สอยร่วม 90,000 ตารางเมตร บนพื้นที่เกือบ 7 ไร่ แวดล้อมด้วยอาคารสำนักงานชั้นนำอย่าง เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และ เดอะปาร์ค ทั้งด้านหลังยังเป็นที่ตั้งของสวนป่าเบญจกิติ ที่เมื่อปรับปรุงเต็มรูปแบบแล้วก็จะกลายเป็นป่าใจกลางเมือง มอบความเขียวขจีร่มรื่นด้วยเนื้อที่ราว 300 ไร่

อาคารของเมดพาร์คใช้ระบบความดันอากาศบวก (positive pressure) ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ ใช้สีขาวและสีน้ำตาลไม้โทนอ่อนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ห้องพักคนไข้มีทั้งด้านที่มองเห็นวิวสวนเบญจกิติและด้านที่เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยสร้างความผ่อนคลายสบายตาระหว่างพักฟื้น

“เรามีห้องผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) 30% ของเตียงทั้งหมด ถือว่าเยอะกว่าทุกที่ เพราะที่อื่นมีไม่เกิน 10% เมื่อเราเปิดเต็มรูปแบบจะมีห้องผู้ป่วยหนัก 130 เตียง จากจำนวนเตียงทั้งหมด 550 เตียง” นพ.พงษ์พัฒน์ เล่า ซึ่งห้องพักคนไข้แบบวีไอพี ก็ปรับเปลี่ยนเป็นห้องผู้ป่วยหนักได้ด้วย และเมื่อเปลี่ยนคนไข้ก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการอบและฆ่าเชื้อทุกครั้ง

แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่โรงพยาบาลเอกชนในไทยต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุในรายงาน “โรงพยาบาลเอกชน ปี 64 ปรับตัวรับการแข่งขัน และ ความท้าทาย” ที่เผยแพร่เมื่อ 6 มกราคม ปีนี้ ว่า 9 เดือนแรกของปี 2563 โรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรายได้ลดลง -14.2% และมีกำไรสุทธิลดลง -54.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่า หากปีนี้ โควิด-19 ไม่มีการระบาดซ้ำ และเริ่มมีการทยอยเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1-4% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15-20% โดยจะมีคนไข้ต่างชาติมารับการรักษาพยาบาลในไทยราว 1.57-1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มจากปีก่อนที่มีราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง)

โรงพยาบาลเอกชนรายใดพร้อมกว่า ฮึดสู้ได้เร็วกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็อาจไม่ไกลเกินคาด

สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ : เรื่อง
วรวิทย์ พานิชนันท์ : ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน