คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

สิทธิประกันตัว – เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณี ผู้ต้องหาจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ไม่ได้รับการประกันตัว

รวมไปถึงกรณีของแอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้องดังที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ถูกจับหลังจากนั้น ก็ไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน

เนื่องจากตามหลักการแล้วสิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เป็นสิทธิที่มาจากหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

เพราะการคุมขังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง กระทบต่อเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตและร่างกายของมนุษย์

และเมื่อมีกรณีของกปปส. ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจากการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่จำเลยได้รับประกันตัว ระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

ยิ่งทำให้ต้องสนับสนุนให้ผู้ต้องคดีได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างถ้วนหน้า

ที่จริงกรณีสิทธิประกันตัวนี้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา และนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ล้วนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยการวางนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน กำหนดให้สามารถยื่นประกันตัวเสาร์-อาทิตย์ ตามแนวคิดความยุติธรรมไม่มีวันหยุด

หรือกระทั่งการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี สามารถยื่นประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักประกัน

เพียงยื่นหลักประเมินความเสี่ยง หากพบว่ามีความเสี่ยงจะหลบหนีน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ จะได้รับการประกันตัวแน่นอน

ซึ่งขณะนั้นนายไสลเกษยังระบุว่า ศาลไทย เป็นประเทศแรกของโลกที่มีกระบวนการให้ศาล เป็นผู้ที่เอาผู้ต้องขังออกจากคุกด้วยตัวเอง

แนวนโยบายที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์จากฝ่ายยุติธรรมดังกล่าว เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ

ปัญหาสิทธิการประกันตัว ไม่ควรกลายเป็นเรื่องถกเถียงเช่นนี้!!

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน