พระรอดลำพูน – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระรอดลำพูน ถ้าเอ่ยคำคำนี้ในสมัยก่อนก็จะหมายถึงพระรอดของกรุวัดมหาวัน ที่จัดอยู่ในพระชุดเบญจภาคีเท่านั้น ซึ่ง พระรอดเป็นพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของพระชุดนี้

เท่าที่มีการศึกษากันมาทำให้ทราบว่าเป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นในสมัยของพระนามจามเทวีขณะที่สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ก็ได้มีการสร้างวัดสี่มุมเมืองเป็นจตุรพุทธปราการ เพื่อเป็นสิริมงคลและปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองและประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข วัดสี่มุมเมืองก็มี วัดพระคง วัดดอนแก้ว วัดประตูลี้ และวัดมหาวัน ซึ่งตั้งอยู่ประจำทิศทั้ง 4 ทิศของเมือง

วันนี้เราจะมาคุยกันถึงพระรอดกรุ วัดมหาวัน ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีขนาดเล็กที่สุดของพระในสกุลลำพูน ขนาดประมาณเท่านิ้วก้อย แต่ก็เป็นพระที่มีความนิยมมากที่สุดของพระสกุลลำพูนสนนราคาก็สูงมากเช่นกัน พระรอดที่มีการขุดพบในวัดมหาวันมีการจดบันทึกไว้ตั้งแต่ต้นๆ ที่มีการขุดพบพระว่ามีพระอยู่กี่พิมพ์อะไรบ้าง เท่าที่มีการบันทึกและเป็นที่ยอมรับเป็นมาตรฐานก็มีอยู่ 5 พิมพ์

คือ พระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์เล็ก พระรอดพิมพ์ตื้น และพระรอดพิมพ์ต้อ พระที่พบก็เป็นพระเนื้อ ดินเผาทั้งสิ้นซึ่งเป็นพระที่มีเนื้อละเอียด หนึกแกร่ง มีมูลค่ารองรับ ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันมาแต่โบราณตั้งแต่มีการขุดพบพระแล้ว

ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงมาก ยิ่งองค์ที่มีความสมบูรณ์และสวยๆ นั้นมูลค่าเป็นหลักล้านบาท พระรอดเป็นพระขนาดเล็กก็ตามแต่ศิลปะบนองค์พระที่ช่างแกะแม่พิมพ์ไว้นั้นงดงามมาก เป็นศิลปะแบบหริภุญชัย ซึ่งก็อยู่ในยุคของทวารวดีตอนปลาย อายุราว 1,200-1,300 ปี ซึ่งเป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีศิลปะแบบพื้นถิ่น

ผสมผสานกับศิลปะแบบทวารดี ซึ่งมีกลิ่นอายของศิลปะแบบคุปตะปะปนอยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ถึงอายุยุคสมัยของโบราณวัตถุได้ว่ามี อายุราวพุทธศตวรรษที่เท่าไร ประกอบกับบันทึกจามเทวีวงศ์ และ ชินกาลลินี ก็พอจะปะติดปะต่อได้ถึงอายุของเมืองหริภุญชัย ทำให้รู้ ได้ว่าพระเครื่องของเมืองลำพูนในยุคแรกๆ นั้นอยู่ในยุคของทวารวดี ตอนปลาย

พระรอด กรุวัดมหาวันก็เป็นพระที่อยู่ในยุคแรกของเมืองลำพูน รูปแบบพิมพ์พระเท่าที่บันทึกไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการขุดพบ และบันทึกศึกษากันต่อมา จนเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยกำหนดมาตรฐานของพิมพ์ไว้ว่ามี พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น โดยเฉพาะพิมพ์ตื้นนั้น ยังแยกออกเป็น 2 แม่พิมพ์ ซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยตรง รอยแตกของแม่พิมพ์ แต่ความนิยมเล่นหานั้นก็เท่าๆ กันทั้ง 2 แม่พิมพ์

พระรอดพิมพ์ตื้นนั้นในสมัยก่อน เมื่อ 40-50 ปีก่อน ก็ไม่ค่อยมีการลงรูปภาพกันสักเท่าไร จึงทำให้ไม่มีการทำปลอมกันนัก ยังได้พระแบบบังเอิญได้เสมอ แต่ในปัจจุบันนั้นมีการทำปลอมทุกพิมพ์ เวลาจะเช่าหาต้องระมัดระวังพิจารณาให้รอบคอบก่อนจ่ายเงินครับ

เอกลักษณ์ของพระรอดพิมพ์ตื้นนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แม่พิมพ์ ตรงซอกแขนหรือร่องระหว่างหน้าตัก และร่องบริเวณฐานนั้นจะมีความตื้นกว่าทุกพิมพ์ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระ แต่ในส่วนของพระเศียรและลำพระองค์กับผนังโพธิ์นั้นจะลึกเหมือนๆ กับพระพิมพ์อื่นๆ

พระรอดพิมพ์ตื้นที่มีอยู่ 2 แม่พิมพ์ก็เนื่องจากรอยแตกของแม่พิมพ์นั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบที่พบเห็นกันบ่อยๆ จะเป็นแม่พิมพ์ที่มีรอยแตกที่ข้างพระเศียรตรงหูซ้ายขององค์พระวิ่งไปหาผนังโพธิ์ กับรอยแตกที่บริเวณหัวไหล่ซ้ายขององค์พระ ลากยาวลงมาข้างแขนจนเกือบถึงข้อศอกของพระ

ส่วนอีกแม่พิมพ์หนึ่งนั้นรอยแตกของแม่พิมพ์จะมีรอยแตกตรงบริเวณเหนือพระเศียรด้านซ้ายขององค์พระเล็กน้อยวิ่งลากยาวลงมาบริเวณข้างหูขององค์พระ และอีกเส้นหนึ่งจะแตกที่บริเวณข้างหูซ้ายขององค์พระ วิ่งลงมาที่หัวไหล่ขององค์พระ พระทั้ง 2 พิมพ์เป็นที่นิยม และเป็นมาตรฐานของสังคม ซึ่งมีมูลค่ารองรับ ซึ่งผมได้นำรูปมาให้ชมกันทั้ง 2 แม่พิมพ์ครับ

ครับลองศึกษาดูนะครับ เปรียบเทียบกันทั้ง 2 องค์ พระแบบนี้เป็นที่ยอมรับ เป็นมาตรฐานสังคมยอมรับ และมีมูลค่ารองรับครับ ผมคงย้ำบ่อยๆ นะครับ เรื่องมาตรฐานมีมูลค่ารองรับ เพราะเป็นเรื่องที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนักครับ พระแบบนี้แท้และ มีมูลค่าหลักล้านครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน