ชี้ขาดแก้รัฐธรรมนูญ – การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำลังเข้าสู่ด่านสำคัญในวันพฤหัสฯ ที่ 11 มีนาคมนี้ ท่ามกลางการเฝ้าจับตา ไม่เฉพาะกลุ่มคนทาง การเมือง นักประชาธิปไตย แต่ยังเป็นที่สนใจ ของประชาชนวงกว้างด้วย

โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

สืบเนื่องจากญัตติด่วนของ ส.ส.รัฐบาล จับมือกับ ส.ว. ขอมติจากที่ประชุมรัฐสภา ก่อนผ่านด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 เสียง

มติดังกล่าวตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลไม่จริงใจ ต้องการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลายฝ่ายต่างวิเคราะห์คำวินิจฉัยน่าจะออกได้ 3 แนวทางหลักๆ

กรณีแรกผลเป็นบวก วินิจฉัยว่าทำได้ สามารถตั้งส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 โหวตรับหรือไม่รับ

หรือถ้าวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ แต่สามารถแก้เป็นรายมาตราได้ ก็ยังพอเดินหน้าต่อไป แต่ ไม่สุดทางเหมือน ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

สุดท้ายถ้าวินิจฉัยว่าการตั้งส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันว่าต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ทุกอย่างที่ดำเนินมาทั้งวาระ 1 และ วาระ 2 เป็นศูนย์

ทว่าจริงๆ แล้วแม้ผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญอย่างราบรื่น ให้ตั้งส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ แต่ยังมีอีกด่านสำคัญ คือ 250 ส.ว. ต้องร่วมโหวตรับ หรือไม่รับในวาระ 3 โดยต้องอาศัยเสียงส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนทำประชามติต่อไป

ที่ผ่านมาในการประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.ซีกรัฐบาล กับ ส.ว. ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากรัฐประหาร มักประสานสอดคล้องกันขับเคลื่อนแนวทางตามที่เครือข่ายอำนาจต้องการ

เสียงส.ว. มีอำนาจเหนือกว่าเสียงประชาชน ดังปรากฏจากกรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรืออีกหลายกรณี

กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มมีสัญญาณจาก ส.ว.ประกาศคว่ำวาระ 3 ปัจจัยชี้ขาดแก้รัฐธรรมนูญยังอยู่ในมือ 250 ส.ว.

จึงเป็นเรื่องอึดอัดและหดหู่ของประชาชน เสียงของพวกเขายังไม่ได้รับการเคารพ และให้เกียรติเท่าที่ควร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน