ร.พ.จุฬาฯโชว์ภูมิคุ้มกันบำบัด – ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดเต้านม การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยการฉายรังสี การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน และการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการรักษาตามมาตรฐานทั่วโลก แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยบางรายหลังพบว่าผู้ป่วยกลับไปเป็นซ้ำ

ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ไทย เล็งเห็นวิธีการรักษาที่ดีอีกวิธีหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นั่นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy

จึงจัดงานแถลงความสำเร็จ ‘ก้าวใหม่ของการรักษามะเร็งเต้านม’ Immunotherapy : the final path towards the cure of breast cancer เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม ชั้น 9 ตึก ว่องวานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์ สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม ร.พ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด คือการใช้ dendritic cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันพื้นฐานที่มีมากที่สุด (immune cell that is the most elementary) สามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (T-cell) ไปกำจัดเซลล์มะเร็ง

โดยการนำ dendritic cell มาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการให้เจริญเติบโตคู่กับ peptide (โปรตีนจำเพาะของคนไข้มะเร็งเต้านมแต่ละคน) หลังจาก dendritic cell เรียนรู้โปรตีนจำเพาะของเซลล์มะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้กลับเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันนี้ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง

วิธีการนี้ทางศูนย์ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลานาน โดยค้นพบวิธีการและแนวทางการรักษาที่คาดว่าจะสามารถช่วยคนไข้ได้ โดยมีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งไปศึกษาในต่างประเทศเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ศูนย์จึงมีความพร้อมในทุกด้านเพื่อเริ่มการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด”

รศ.นพ.กฤษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไข้ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดรายแรกคือ คุณเพลินพิศ โกแวร์ มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมและเซลล์มะเร็งได้กระจายไปที่ตับ กระดูก ปอด ในช่วงเวลา 3 ปี ทีมแพทย์ได้ผ่าตัดเนื้อร้ายที่ตับออก หลังผ่าตัดคนไข้ได้รับยาเคมีบำบัดตามมาตรฐาน แต่ต่อมาได้กลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง คนไข้จึงขอหยุดการรักษาและขอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับลูกสาว

“ผมจึงขอให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งศูนย์ได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างดี โดยคนไข้ได้ตอบรับและผลการรักษาได้ประสบความสำเร็จตามที่ได้วางแผนไว้คือ หลังจากฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันไป 6 เดือน อาการต่างๆ ดีขึ้น ได้แก่ คนไข้ไม่เหนื่อย ไม่พบน้ำในปอด อาการปวดกระดูกหายไป ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดอีก คนไข้สามารถเดินขึ้นบันไดโดยไม่เหนื่อย ทั้งที่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วต้องนั่งรถเข็น และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สำคัญคือ ผลจากการเจาะตรวจชิ้นเนื้อจากตับที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไป ไม่พบเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ นอกจากนี้ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีค่อนข้างเล็กน้อย เช่น มีตุ่มน้ำใส ปวดตามข้อ ซึ่งเกิดในระดับเล็กน้อยเท่านั้น” รศ.นพ.กฤษณ์กล่าว

รศ.นพ.กฤษณ์กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านมได้รับความร่วมมือ อย่างดียิ่งจากสถาบันในต่างประเทศ คือ Professor Stuart Curbishley มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร และ Professor Jolanda de Vries จากประเทศเนเธอร์แลนด์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อีกทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณ และสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถสมทบทุน สนับสนุนและพัฒนากระบวนการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย (2) เลขบัญชี 045-2-62588-8 ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

หากประสงค์ขอรับใบเสร็จโปรดส่งหลักฐานการบริจาค พร้อมระบุ : โครงการศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถสภากาชาดไทยเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ส่งไปที่อีเมล์ : [email protected] โทรสาร 0-2652-4440 หรือ บริจาคด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ผ่าน Application Mobile Banking เข้าระบบ e-donation ลดหย่อนภาษี 2 เท่า โดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1664

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน