ผนึกเครือข่ายนักวิจัยอาเซียน – ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น

จัดประชุมนักวิจัยระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษาเพื่อกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน หลังพบปัญหาเยาวชนอาเซียนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก

ประกอบกับ 3 ปัจจัยที่การศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ คือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองและชนบท และผลกระทบจากโควิด-19 การประชุมมี 3 วิทยากรหลักนำเสนอภาพรวม ได้แก่ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ และ มิสดี เบอบอน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนเพื่อสังคม เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น

ดร.สุภัทรชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยที่ช่วยยกระดับการศึกษาของอาเซียน เนื่องจากสภาพปัญหาที่มีความคล้ายกัน 3 เรื่องคือ เยาวชนอาเซียนมีผลประเมินด้านการศึกษาต่ำ (PISA) การขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยดึงประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง และการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกรัก สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องเร่งส่งเสริมงานวิจัยด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคต นำผลการวิจัยไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อยกระดับศักยภาพของอาเซียนอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ดร.พรพรรณกล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาอาชีพครู และการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่าการหารือครั้งนี้ครอบคลุม 3 ประเด็นหลักคือ กระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การบูรณาการสะเต็มศึกษาตั้งแต่ระบบเรียนฟรี หรือ K-12 และการสร้างโมเดลวิทยาลัยอาชีวะสะเต็มศึกษาที่ได้มาตรฐานโลก เวทีนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา หลังผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กในเมืองและชนบท และสภาพเศรษฐกิจจากโควิด-19

ด้าน มิสดี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเชฟรอนกับ SEAMEO STEM-ED เพื่อพัฒนาสะเต็มศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยเชฟรอนเริ่มมีส่วนร่วม พัฒนา “พลังคน” ในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 6 ปีแล้วภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สองกลายเป็นโมเดลต้นแบบงานซีเอสอาร์ ด้านการศึกษาระดับภูมิภาค โดยนำเสนองานวิจัย ที่ถอดบทเรียนในโครงการให้กับนักวิจัยทั้งอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการสอนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชน แห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) รวมถึงการประเมินครู ผู้สอน ซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กและการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

บทสรุปและแนวทางที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO Congress 2021 ที่จะมีขึ้นปลายเดือน เม.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน