พท.ยก6ข้อ-เดินหน้าโหวตรธน.วาระ3 – เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตโหวด กับคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ 1.รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2555 และปี 2564 รัฐสภาสามารถใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เท่านั้น

 

2.จะให้ประชาชนลงมติในขั้นตอนใด ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ชัด ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐสภาได้มีมติในวาระที่ 1 และ 2 ผ่านพ้นไปแล้ว และที่ผ่านมารัฐสภาได้ดำเนินการโดย ถูกต้องตามขั้นตอน ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ทุกประการ รัฐสภาจึงต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวาระที่ 3 ต่อไป หลังจากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอน การจัดทำประชามติ หากไม่มีการลงมติวาระ 3 แต่นำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน การดำเนินการจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รอการลงมติในวาระ 3 เห็นว่าไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ในตัวเอง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องยกเลิกกระบวนการทั้งหมดที่ทำมา ดังนั้น การให้ประชาชน ออกเสียงประชามติหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในวาระที่ 3 จึงถือเป็นการถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

4.หลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ บังคับแล้ว กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน แล้วเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็น หลังจากนั้นจึงนำให้ประชาชนออกเสียงประชามติ เมื่อผ่านประชามติแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป ดังนั้นการลงประชามติเพื่อถามประชาชนว่าจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงต้องทำ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การถามความเห็นของประชาชนไปพร้อมกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 3 แล้วนั่นเอง

5.ความเห็นที่ให้ยกเลิกการลงมติวาระที่ 3 แล้ว กลับไปถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะก่อให้เกิดผลดังนี้ คือไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดรองรับไว้ เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) กำหนดขั้นตอนการทำประชามติไว้ชัดเจนแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวมาดำเนินการในเรื่องนี้ หากกระทำการ ดังกล่าวจะมีผลเท่ากับต้องลงประชามติถึงสามครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์และผลเปลี่ยนแปลงใดๆ และการกระทำเช่นนี้อาจขัดต่อคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพราะคำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติสองครั้ง คือก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหลังจากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว

6.รัฐสภาต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เองหรือให้ ส.ส.ร. เป็นผู้ยกร่าง ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเพียงว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ได้ แต่ไม่ได้ระบุข้อจำกัดและเงื่อนไขว่ารัฐสภาจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง จึงอยู่ที่รัฐสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ได้ภายใต้เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงสามารถทำได้ และที่ผ่านมา รัฐสภาเคยดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาแล้วในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 2540

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน