วันนี้มาพร้อมข่าวแจ้งแถลงทราบในบรรยากาศนับถอยหลังสู่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 19 ยุคย้ายบ้านใหม่ไปฮอลล์ 98-99 ไบเทค บางนา 17-25 เมษายนนี้

“สำนักพิมพ์มติชน” ขอเป็นแกนนำขนทัพหนังสือ การเมืองไฮไลต์ หนังสือใหม่ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมไทย และต่างประเทศ เสิร์ฟนักอ่านอย่างเข้มข้นกว่าครั้งไหนๆ ในธีม “Matichon Democracy in The Park” นัดเสพสุนทรียะ แห่งพื้นที่ของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน

งานนี้มี “กล้วย-Banana Blah Blah” ศิลปินอิลลัสเตรเตอร์รุ่นใหม่ พาตีความสังคมไทยผ่านหนังสือและการอ่าน ณ บูธมติชน L19 ผ่านคาแร็กเตอร์มากมายที่สะท้อนภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เสรีภาพ และความเท่าเทียม

“เพราะหนังสือคืออาวุธทางปัญญา ท้าสู้ความสลัวราง สู่แสงสว่างแห่งความจริงในอนาคต”

ย้ำว่า ห้ามพลาด บูธมติชน L19 สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 วันที่ 17-25 เมษายน ณ ฮอลล์ 98-99 ไบเทค บางนา

…แต่ก่อนถึงวันนั้น คือช่วงเวลาของล้านนา ปักหมุดที่เชียงใหม่ “เทศกาลหนังสือฤดูร้อน Summer Book Fest 2021”

ร้อนนี้ไม่มีเหงา มาเจอกันได้ให้หายคิดถึงที่บูธมติชน B01 26 มีนาคม – 4 เม.ย. ที่เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

โอกาสพิเศษก็ต้องมากับเล่มพิเศษ สำนักพิมพ์มติชนเปิดตัว 2 เล่มเอี่ยมอ่องว่าด้วยเรื่องราวล้านนา

“กาดก่อเมือง : ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา” หนังสือโดย วราภรณ์ เรืองศรี เล่มนี้ มุ่งชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าในล้านนาก่อนยุคเทศาภิบาลไม่อาจแยกจากเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมือง ทว่าอธิบายกระบวนการการก่อรูปของรัฐจารีตและการสร้างเสถียรภาพภายในอาณาจักรผ่านการกลายเป็นศูนย์กลางการค้า

ด้วยการค้าไม่เคยแยกจากมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนมายาวนาน การค้าของรัฐดินแดนตอนใน (ไม่ติดทะเล) อย่างล้านนา มีส่วนอธิบายการก่อรูปของรัฐผ่านการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มคนในระดับต่างๆ และพื้นที่ทางการค้าเหล่านี้เองที่สร้างเงื่อนไขของกระบวนการรับรู้ความต่างระหว่างชาติพันธุ์

ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเข้ามากระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการแลกเปลี่ยนจึงส่งผลต่อการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงมิติความสัมพันธ์ในด้านอื่นไปด้วยพร้อมกัน

“ยุคทองล้านนา : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน” โดย วิชญา มาแก้ว เผยบทบาทของสามัญชนต่อเศรษฐกิจการค้าในล้านนายุคทอง โดยพาย้อนเวลากลับไปยังดินแดนแห่งหุบเขาและสายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่สามัญชนทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างยุคสมัยอันรุ่งเรืองด้วยการค้า

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 ล้านนาซึ่งก่อตัวขึ้นจากเครือรัฐต่างๆ ในดินแดนหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งทรัพยากรของป่าที่สำคัญ หากแต่ก็เป็นรัฐตอนในที่ไม่ติดทะเล ได้เปิดประตูรับยุคสมัยแห่งการค้าในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้โดยอาศัยเครือข่ายระหว่างเมืองและรัฐในการกระจายสินค้าและทรัพยากรจากดินแดนหุบเขาไปสู่เมืองท่าชายฝั่ง เพื่อส่งออกไปขายในตลาดการค้าใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประกอบกับโครงสร้างสังคมและการปกครองของล้านนาที่เอื้อให้ชนชั้นล่างหรือไพร่มีอิสระในการทำค้า-ทำการผลิต ทำให้ไพร่บางส่วนกลายเป็นทั้งพ่อค้า ช่างฝีมือ และบางคนในพวกนี้สามารถสะสมทุนได้จากการค้าที่รุ่งเรือง และกระจายความมั่งคั่งผ่านการระดมทุนสร้างวัด อันทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และการค้าอีกต่อหนึ่งด้วย

ดังที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวไว้ตอนหนึ่งในคำนำเสนอ “การศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมของล้านนา…วิเคราะห์พลังความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เป็นเพราะพระบรมเดชานุภาพ อาณาจักรจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมสลายขึ้นอยู่กับกษัตริย์ แนวทางวิเคราะห์เช่นนี้ละเลยบทบาทของสามัญชนคนชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ฐานรากของอาณาจักร”

…ต่อด้วยการนำเที่ยวพระธาตุหริภุญชัย เจดีย์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งแห่งดินแดนล้านนา ผ่านหนังสือ “พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน” โดย ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์

พระธาตุหริภุญชัยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยหริภุญชัย ก่อนที่จะได้รับการบูรณะในสมัยล้านนาหลายครั้ง…สิ่งที่ช่วยในการกำหนดอายุคือ พระพุทธรูปดุนนูนบนแผ่นทองจังโกที่ประดับรอบองค์ระฆัง จารึกที่ใต้องค์พระพุทธรูป โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลาที่ถือเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นเมื่อล้านนาเริ่มรับอิทธิพลสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ดังนั้น รูปแบบของ พระธาตุหริภุญชัยที่ปรากฏในปัจจุบันน่าจะสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ยังปรากฏอิทธิพลศิลปะพุกามในงานประดับตกแต่งที่มาพร้อมกับเจดีย์ ได้แก่ การประดับลวดลายกาบบน กาบล่าง และประจำยามออก การทำบัลลังก์ย่อมุม กู่หรือโขงประตู รวมทั้งการประดับทองจังโก แผ่นทองแดงที่นำมาหุ้มเจดีย์และปิดทอง และการประดับฉัตรจริงไว้ยอดเจดีย์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามและพม่า

ส่วนพระพุทธรูปดุนนูนบนแผ่นทอง จังโกและจารึกสันนิษฐานได้ว่าทำขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา

ในเอกสารสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาก็กล่าวถึงการหุ้ม พระธาตุหริภุญชัยด้วยแผ่นทองคำ และในสมัยพระเจ้าติโลกราชคราวสร้างเจดีย์หลวงได้กล่าวถึงการหุ้มทองจังโกแล้วปิดทองคำเปลวอีกชั้นหนึ่ง

…ปิดท้ายด้วยเล่มสำคัญ โหมโรงก่อน Matichon Democracy in The Park จะมาถึง “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” ว่าด้วย “หมุด” สัญลักษณ์จุดเริ่มต้นประชาธิปไตยในประเทศไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ว่า ความคิดที่ปักหมุดไว้กลางถนนนั้นเป็นสิ่งประหลาด อนุสาวรีย์ที่เป็นหมุดไม่ใช่ของประหลาด แต่ทำกันแพร่หลาย เพราะมีเสน่ห์ดีตรงที่ทำให้ผู้คนสามารถ “สัมผัส” กับอดีตได้โดยตรง แต่หมุดอนุสรณ์มักปักกันไว้ในที่ซึ่งผู้คนสามารถสัญจรเข้าไปถึงได้ง่าย เช่น ในสวนหย่อม บนบันไดตึก หรือทางเท้า ไม่น่าจะปักไว้ในที่สัญจรของรถ

จึงน่าสงสัยว่า เป็นเจตนาแต่แรกแล้วที่จะสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่การปฏิวัติชนิดที่ไม่ขัดแย้งกับพระบรมรูปทรงม้า จนถึงอาจตั้งใจหรือปรารถนาให้กลมกลืนกันไปกับลานพระบรมรูปนั้น ความใฝ่ฝันที่จะเห็นการกลมกลืนกันไปอย่างราบรื่นของรัฐไทยใหม่สองชนิด… รัฐที่เป็นผลผลิตของสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐที่เป็นผลผลิตของคณะราษฎร เป็นความใฝ่ฝันของคนกลุ่มหนึ่งสืบมาอีกนาน

แต่ธรรมชาติของรัฐทั้งสองชนิดนี้จะไปกันได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีฝ่ายใดข่มอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก ความขัดแย้งของรัฐสองชนิดนี้ปรากฏให้เห็นได้ในหลายลักษณะ หนึ่งในลักษณะต่างๆ ของความขัดแย้งนั้นแสดงออกในรูปแบบของอนุสาวรีย์ จนทำให้เกิด “สงครามอนุสาวรีย์” ที่ยังต่อสู้กันสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ลานกว้างแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ชุมนุมอะไรอื่นๆ อีกมาก และอาจจะโดยบังเอิญที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายที่ต้องการปราบปรามนักศึกษาก็ได้ใช้ลานแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมต่อต้านของตน นักศึกษาที่ถูกปราบปรามในวันนั้น คิดว่าอดีตของตนสัมพันธ์กับหมุดเล็กๆ ที่ฝังอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นพิเศษ ในขณะที่ผู้ต่อต้านนักศึกษาคิดว่าอดีตของตนสัมพันธ์กับพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นพิเศษ

หมายเหตุ ปัจจุบัน หมุดคณะราษฎรสูญหาย หลังจากที่ถูกถอดออกไปและนำ “หมุดหน้าใส” มาใส่แทนในปี 2560

พบกันใหม่วันอาทิตย์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน