เลือกตั้งเทศบาล – ในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคมนี้ เวลา 08.00- 17.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เป็นส่วนการปกครองระดับเทศบาลทั่วประเทศ ประกอบด้วย เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในครั้งนี้ มีทั้งหมด 2,472 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง

มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด รวมจำนวน 73,390 คน แบ่งออกเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี จำนวน 5,771 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 67,619 คน

ถือว่ามีความคึกคักไม่น้อย

จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงราย และอุดรธานี ซึ่งมียอดผู้สมัครตั้งแต่ 4,000-2,000 คน

การเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ เกิดขึ้นต่อจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)

ทั้งสองรูปแบบการปกครองนี้ ล้วนแต่เป็นองคาพยพและพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองประชาธิปไตยในระดับชาติ ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน และว่างเว้นอย่างเด็ดขาด

เพราะการเลือกตั้งระดับชาติคือการเลือกรัฐบาล แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นคือการเลือกผู้ดูแล

การเลือกตั้งรองๆ ลงไปในระดับนี้ อาจไม่เป็นที่น่าสนใจ ประชาชนบางส่วนอาจไม่เห็นสำคัญเท่ากับการเลือกตั้งระดับจังหวัดและเลือกตั้งระดับประเทศ แต่ก็เป็นระบอบที่เปิดให้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของท้องถิ่น

ที่สำคัญ การเลือกตั้งระดับนี้ เว้นช่วงหายไปกว่า 7 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การเปิดให้ประชาชนได้สิทธิ์อีกครั้งจึงควรให้ความสำคัญ ไม่ควรเพิกเฉยอย่างเด็ดขาด

หลังจากนี้ไป ก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศอีกครั้ง คือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายกอบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)

ต่อจากนั้น ก็จะเป็นจัดการเลือกตั้งของเขตการปกครองพิเศษ ซึ่งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและใช้สิทธิ์เลือกตั้งในโอกาสถัดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน