พระพุทธสำคัญงานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์

หลวงพ่อโสธร
วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

พระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่งเล็กน้อย พระเนตรเล็กหรี่และเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก มีอุษณีษะและพระรัศมีทรงสูง

พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่เกิดจากการนำหินทรายมาประกอบเข้าด้วยกัน จากหลักฐานการบูรณะครั้งสำคัญโดยกรมศิลปากร พบว่าเป็นพระพุทธรูปหินทราย สลักเป็นชิ้นๆ รวม 11 ชิ้น แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันและลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นเทคนิคการสลักพระพุทธรูปหินทราย แบบอยุธยาตอนต้น

มีประวัติความเป็นมาว่าประดิษฐานที่วัดโสธรวราราม ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2313 โดยมีเกร็ดประวัติกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปทางเหนือที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน 3 องค์ องค์พี่ใหญ่คือหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลางคือหลวงพ่อโสธร และองค์เล็กคือหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ

ปัจจุบันพระพุทธโสธรประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นมงคลคู่เมืองแปดริ้ว ทั้งวัดและองค์พระเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธายึดเหนี่ยว ไม่เฉพาะชาวแปดริ้วเท่านั้น แต่รวมถึงสาธุชนจากทั่วประเทศ

ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโสธร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมายที่มีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในบุญกุศลที่หลั่งไหลมากราบไหว้สักการบูชา และขอพรบารมีจากหลวงพ่อ จนเป็นที่กล่าวขวัญบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางค้าขาย ทางคงกระพัน ทางแคล้วคลาดปลอดภัย ทางรักษาโรค

พระพุทธสิหิงค์(จำลอง)
นครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในท้องถิ่นสำคัญๆ ในประเทศไทยคือที่เชียงใหม่ (พระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์) นครศรีธรรมราช (หอพระพุทธสิหิงค์) และกรุงเทพฯ (พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ทั้ง 3 แห่งนี้ก็เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยทั้งสิ้น

พระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ ต่างมีตำนานอ้างอิงมาจากตำนานเดียวกัน ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นที่เกาะลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 และได้เดินทางเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยสมัยพระร่วงองค์หนึ่งของสุโขทัย ขึ้นฝั่งทะเลที่นครศรีธรรมราช และได้ถูกนำไปประดิษฐานยังบ้านเมืองต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดตำนานเฉพาะท้องถิ่นเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์แต่ละองค์แยกต่างหากออกไป

แต่ตำนานหลักที่เป็นเรื่องมูลฐานนั้นคือ นิทานพระพุทธสิหิงค์ ที่พระโพธิรังสี ภิกษุชาวเชียงใหม่ แต่งเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้รูปแบบของพระพุทธสิหิงค์ทั้งหลายไม่ว่าจะประดิษฐานที่ใด จึงมีลักษณะรูปแบบของพระสิงห์ คือพระนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย พระองค์ค่อนข้างอวบ มีชายสังฆาฏิสั้น พระหนุเป็นปม มีรัศมีเป็นดอกบัวตูม ซึ่งแต่ละองค์จะแตกต่างกันที่ฝีมือเฉพาะท้องถิ่นที่แสดงว่าเป็นฝีมือของช่างภาคใต้ หรือล้านนา

พระพุทธสิหิงค์ที่อัญเชิญมานี้ จำลองจากองค์ต้นแบบ ในหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

กรมศิลปากรได้จัดพิธีหล่อพระจากเบ้าขององค์จริงเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเททอง เมื่อปี พ.ศ. 2517 ขนาดหน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.8 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แต่มีลักษณะพระวรกายกลมป้อม พระอุระนูนมาก พระเศียรและพระพักตร์กลมป้อม เส้นพระศกใหญ่ไม่มีไรพระศก พระหนุและพระนาสิกยื่นเล็กน้อย ชายสังฆาฏิสั้นเป็นแบบเขี้ยวตะขาบ จัดเป็นพระพุทธรูปที่เรียกว่า “แบบขนมต้ม” สกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21

พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชาในหมู่ชาวภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างยิ่งว่ากันว่าผู้ทุจริตคิดมิชอบ ทั้งหลายจะไม่กล้าสาบานต่อหน้าองค์พระเลย หลังจากที่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดแล้ว คดีความที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมักมีการเอ่ยอ้างนามพระพุทธสิหิงค์ในการสาบานตัว ทำให้ไม่มีใครกล้าเบิกความเท็จ

พระเชียงแสน

พระเชียงแสน คือพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ กลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร “แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง” และแบบที่ได้รับ “อิทธิพลศิลปะสุโขทัย” พระพุทธรูปทั้งสองแบบนี้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20

พระเชียงแสนที่นำมาประดิษฐาน ณ ไอคอนสยามนี้ เป็น “พระเชียงแสนแบบสิงห์หนึ่ง” มีลักษณะที่สำคัญคือ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลม แย้มประโอษฐ์ ขมวดพระเกศาใหญ่ เหนืออุษณีษะหรือพระรัศมีเป็นตุ่มกลมหรือลูกแก้วคล้ายดอกบัวตูม ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน

การสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนี้ คงสัมพันธ์กับคติการสร้างพระพุทธสิหิงค์ที่คงเกิดขึ้นในล้านนาตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเรียกพระในกลุ่มนี้ว่า “พระสิงห์”

หลวงพ่อพระใส
วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย

หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหนองคาย ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว

ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย มีจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าประวัติความเป็นมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2077-2114) กษัตริย์ล้านช้าง มีพระธิดา 3 พระองค์ สุก, เสริม และใส พระธิดาทั้งสามพระองค์ขอสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ ระหว่างสร้างช่างหล่อทอง 7 วัน ยังไม่ละลาย วันที่แปดตอนใกล้เพล ขณะที่หลวงตากับเณรหล่อทองอยู่นั้น ชีปะขาวคนหนึ่งอาสาช่วยงาน หลวงตากับเณรขึ้นไปฉันเพล เมื่อฉันเพลเสร็จพบว่าทองทั้งหมดเทลงเบ้าทั้งสามเรียบร้อย ชีปะขาวก็หายไป

พระพุทธรูปทั้งสามองค์ชื่อ พระสุก พระเสริม พระใส ประดิษฐาน ณ กรุงเวียงจันทน์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์จากเวียงจันทน์เป็นกบฏ รัชกาลที่ 3 โปรดให้ปราบเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ แม่ทัพใหญ่คิดอัญเชิญพระสุก พระเสริม พระใส มาฝั่งไทย ขณะนั้นซ่อนอยู่ภูเขาควาย กองทัพสยามหาจนพบแล้วอัญเชิญขึ้นแพ เมื่อมาถึงคุ้งน้ำเกิดพายุใหญ่ช่วงพ้นปากน้ำงึม พระสุก แหกแพจมลงแม่น้ำโขง บริเวณนั้นชื่อว่า เวินสุก มาจนถึงปัจจุบัน ตรงกับ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

เมื่อขบวนแพมาถึงหนองคาย โปรดให้อัญเชิญพระเสริม และพระใสไปกรุงเทพฯ ขบวนเกวียนของพระใสเมื่อมาถึงวัดโพธิ์ชัยเกิดหักลง แม้จะเปลี่ยนเกวียนกี่เล่มๆ ก็ไม่เป็นผล ต้องอัญเชิญพระใสขึ้นไว้ที่วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระเสริมไปกรุงเทพฯ ประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม ตราบจนทุกวันนี้

ชาวอีสานและชาวหนองคายมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อพระใส เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อพระใส โดยส่วนใหญ่มักจะขอให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย นอกจากนี้ยังขอเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน เมื่อสัมฤทธิผลแล้วก็จะมาแก้บนในช่วงสงกรานต์ ที่พิเศษคือบนขอลูก คู่สามีภรรยาต้องทำพิธีต่อหน้าหลวงพ่อ หลังเสร็จพิธีทุกวันพระ สามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 ต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก เมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว หลังคลอดให้นำลูกน้อยมาแก้บนทำพิธีผูกแขน ทารกปวารณาเป็นลูกหลวงพ่อ

ทุกเทศกาลสงกรานต์ ชาวหนองคายจะอัญเชิญหลวงพ่อพระใสขึ้นรถแห่ไปรอบเมืองให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน