คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สังคม จับตามอง – สังคมยังจับตามองบทบาท “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” อยู่

ตามคำประกาศเมื่อวันที่ 7 เมษายน ณ สวนสันติพร พฤษภา ประชาธรรม ว่า จะหวนกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์

โดยรูปการแล้วจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

คำประกาศหนึ่งก็คือ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่อำนวยให้ ก็จะใช้ ช่องทางของ “โซเชี่ยล มีเดีย” ในการออกมาเคลื่อนไหว

นี่ย่อมเป็นความมุ่งมั่นของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

ต้องยอมรับว่า ความมุ่งมั่นครั้งนี้ เป็นเดิมพันการเมืองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ มีความเห็นร่วมว่า สภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสถานการณ์ร่อแร่

ชาวบ้านเริ่มหงุดหงิดและไม่พอใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ไวรัส โควิด-19” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจ” ที่เสื่อมทรุดและมีความเดือดร้อนทุก หย่อมย่าน

เพียงยื่นมือแตะแผ่วเบาก็อาจจะล้มครืน

บทสรุปเช่นนี้เมื่อมาจากปาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ต้องล้างหูน้อมรับฟัง

เพราะว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ มีประสบการณ์มาแล้วจากการต่อสู้กับรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม 2535

และเห็นว่า “พลังมหาชน” มีพลานุภาพสูงยิ่ง

เพราะรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เห็นกันว่าแข็งแกร่งก็ต้องพังทลาย เพราะรัฐธรรมนูญที่ว่า แก้ยากแก้เย็นอย่างยิ่ง ก็สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

บทเรียนนี้กำลังกระหน่ำเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่มีใครคาดหมายหรือให้คำตอบในความเฉียบคมของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

เพียงแต่ว่าหลายคนเมื่อเห็นว่ากระแสของ “เยาวชน” เริ่มต่ำเพราะ “แกนนำ” ถูกจับกุมไปคุมขัง จึงมองไปยังบทบาทและการเคลื่อนไหวของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

สถานการณ์หลังสงกรานต์จะเข้มข้นหรือว่า เงียบหายไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน