คลังกุมขมับหนี้ครัวเรือนกระฉูด86.6%
คนไทยขาดการออม-ส่อภาวะเกษียณทุกข์ไม่มีเงินใช้

กระทรวงการคลัง ระบุหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 86.6% ต่อจีดีพี หลังโควิด-19 ระลอกใหม่ ห่วงคนไทย 27.1% ไม่มีแผนการออมเงิน โดยเฉพาะสังคมสูงอายุ 34.7% ยังพึ่งพาเงินจากบุตรหลาน หวั่นไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ “เกษียณทุกข์” ไม่มีเงินใช้ตอนแก่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (Financial Literacy) ในพิธีเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” ว่า สถานการณ์ด้านการเงินของคนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 4 ประการ ได้แก่ 1.หนี้ครัวเรือนไทย โดยในไตรมาส 3/2563 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางสถานะทางการเงินของคนไทย

2.ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คาดว่าในปี 2566 สัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นควรมีการวางแผนการออม ซึ่งจากข้อมูลปี 2560 พบว่าช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุ 34.7% ยังพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน อีก 31% ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง และ 2.3% พึ่งรายได้เงินออม ซึ่งอาจทำให้คนไทยเสี่ยงต้องเผชิญภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต

3.การออมภาคครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2561 สำนักงานสถิติ แห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม และครัวเรือนที่มีการออมเงิน มี 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% ส่วนวิธีการออมพบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม และอีก 38.5% ออมไม่แน่นอน และอีก 22.6% ออมก่อนใช้ และ 4.ทักษะความรู้ด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ

นายอาคมกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนว่าต้องเร่งสร้างกลไก เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกว่า “อีโคซิสเต็มของตลาดเงินและตลาดทุน” ให้ความสำคัญการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะเพื่อให้สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้

รวมทั้งต้องเรียนรู้และปรับตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน, ปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรมในเชิงบวกต่อการออม เพื่อลดปัญหาการเงินในครัวเรือน โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันให้ความรู้การจัดการด้านการเงิน พัฒนาทักษะให้แก่ประชาชนคนไทย

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญความท้าทายมาก ทำให้สถานการณ์การเงินไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น การฟื้นฟูภาคครัวเรือนและธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน และต้องการการผลักดันจากหลายภาคส่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน