ส่องกระแสจี้‘ยุบสภา-ลาออก’

ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังอีนุงตุงนัง กระทบถึงปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจทั้งระบบ

ในด้านการเมือง รัฐบาลยังเดินหน้าเล่นงานคนเห็นต่าง ขณะเดียวกันก็ชิงความได้เปรียบ แก่งแย่งผลงานกันเอง

จนเกิดกระแสกดดันให้รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา ลาออก

เสียงเรียกร้องดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ และใช่ทางออกหรือเปล่า

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

เสียงเรียกร้องเกิดจากความอึดอัดที่รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งโควิด ที่เกิดขึ้นจากคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงและโดยอ้อม ขณะที่การลุกลามของปัญหา เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการ และไม่มีสัญญาณจะเซ็ตระบบในการแก้ไขปัญหาที่ดีได้








Advertisement

เช่น ที่มีคนรอรักษาจนเสียชีวิตคาบ้านมันสะเทือนใจและทำให้คนไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความไม่พอใจผลงานทั้งหมดของรัฐบาล

ยังมีปัจจัยที่เกิดจากเรื่องสะสมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง พอเกิดเรื่องโควิดทำให้กลุ่มบุคคลที่ไม่อยากพูดเรื่องการเมือง แต่รู้สึกว่ารัฐบาลล้มเหลวไม่พอใจรัฐบาลด้วย ซึ่งรัฐบาลประเมินความรู้สึกของประชาชนผิดไป พอประเมินผิดความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

เรื่องเศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องที่คนรวยไม่เดือดร้อน เรื่องการเมือง คนที่ชอบ-ไม่ชอบประชาธิปไตยอาจรู้สึกไม่เดือดร้อน แต่เรื่องที่กระทบชีวิตผู้คนเป็นเรื่องสาธารณะ เหมือนเป็นจุดสิ้นสุดความอดทน

และเป็นฉันทานุมัติว่าไม่ว่าคุณจะชอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตย เป็นคนจนหรือคนรวย แต่รัฐบาลกลายเป็นคนสร้างความเดือดร้อนให้ทุกคน จากกระบวนการจัดการแก้ปัญหาโควิดที่ล้มเหลว

พอมีโควิด อาจจะทำให้กลุ่มที่ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง ไม่อยากวิจารณ์กับรัฐบาลเพราะกลัวถูกมองว่าเป็นเด็กธนาธร ต้องแสดงตัวออกมา

การยุบสภาหรือลาออกไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา แต่เป็นการยุติปัญหาตอนนี้ไม่ให้ลุกลาม รัฐบาลเป็นเหมือนกับมะเร็งของประเทศ ถ้าไม่หยุดจะลามไปเรื่องอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่แก้ ปัญหาเศรษฐกิจห่วย การเมืองห่วย แก้โควิดห่วย ก็จะทำให้ทุกอย่างพันกันและแย่ไปหมด

การเอารัฐบาลออกไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง แต่ถ้ายังมีรัฐบาลเป็นแบบนี้เราแก้ปัญหาเรื่องอื่นไม่ได้ ตอนนี้รัฐบาลคือตัวล็อกกระบวนการแก้ปัญหาที่จำเป็นของประเทศไว้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและโควิด และความผิดพลาดทุกอย่าง

คือไปรวมศูนย์การบริหารงานแบบอำนาจนิยม ซึ่งอยู่ภายใต้ผู้นำที่ไม่เก่ง เลยกลายเป็นชนวนของทุกปัญหา จริงๆ ถ้าเป็นผู้นำที่มีความสามารถแล้วรวมศูนย์จะไม่เกิดปัญหา แต่ถ้ารวมศูนย์แล้วผู้นำยิ่งไม่มีความสามารถทุกอย่างในประเทศก็จะพัง

เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก จะเป็นหนทางที่เหมาะสมและน่าจะเป็นไปได้ที่สุด

เพราะการยุบสภาจะมีแรงต้านของ ส.ส. เพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ซึ่งก็ถูกของเขา และการยุบสภาก็จะมีข้ออ้างจากฝั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าแล้วจะเลือกตั้งอย่างไร เพราะโควิดยังระบาด ดังนั้น เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

แต่การลาออกเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อประเทศนี้ ซึ่งในที่สุดเป็นสิ่งที่ต้องแสดงออกมาด้วยตัวเอง ไม่สามารถผลักภาระไปให้คนอื่นได้ การลาออกถือว่าเป็นธรรม เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนสร้างปัญหา และจะเปิดโอกาสให้มีการปรับอะไรง่าย

แต่ไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกด้วยตัวเอง ฉะนั้นประชาชนต้องกดดันให้ลาออก เราปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้ผู้นำแบบนี้ต่อไปไม่ได้ พลังของมวลชนไม่จำเป็นต้องเกิดจากการมารวมตัวเท่านั้น

ความไม่พอใจของมวลชนเป็นเรื่องที่รอเช็กบิล และครั้งนี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์รอเช็กบิล ในเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองเปิด

ยุทธพร อิสรชัย

รัฐศาสตร์ มสธ.

กระแสจี้ให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาในช่วงนี้ เชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนสาเหตุรองลงมาคงเป็นเรื่องกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะความขัดแย้งล่าสุดกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

ข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหานั้น แนวคิด ดังกล่าวก็จะคล้ายๆ แนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเหมือนที่ผ่านมา เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางสังคมการเมืองเราก็จะพูดถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศเราไม่เคยมีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นเลย

แต่ก็จะมีคำถามว่ารัฐบาลแห่งชาติจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลชั่วคราวตามข้อเสนอของบางคนก็ล้วนต้องใช้คนจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม จึงเป็นคำถามที่ว่าแนวคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพได้จริงหรือไม่

เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลผสมเรายังเห็นความลุ่มๆ ดอนๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่การตั้งรัฐบาลมา ปัญหาทั้งเรื่องเสียงปริ่มน้ำ ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ล้วนแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของการร่วมกลุ่มทางการเมืองนั้น มันไม่ง่ายที่จะทำให้ความคิดของคนต่างๆ เป็นเอกภาพได้

การยุบสภาไม่น่าเป็นทางออกของปัญหาได้ในภาวะเช่นนี้ เพราะการยุบสภา แม้มีหลายประเทศเขาทำกัน เช่น กรณีของประเทศอังกฤษยุบสภาเพื่อให้เกิดความชอบธรรม

ทั้งนี้ทั้งนั้นการยุบสภาในสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยนั้น อาจจะเป็นคนละแบบกับอังกฤษก็เป็นได้ โดยถ้าเป็นการยุบสภาของไทยอาจทำให้เหมือนไร้ทิศทางในการแก้ปัญหา

การลาออกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ก็ต้องมองด้วยว่าการจะลาออกแล้ว ก็ต้องมีบุคลากรที่พร้อมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ซึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างแท้จริง

ซึ่งก็อาจเกิดเกมการเมืองในสภาขึ้นมาได้อีก พร้อมมีโจทย์ใหญ่ในหลายเรื่องที่รออยู่ ก็เป็นไปได้ นั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดการลาออกหรือยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้ ถ้าหมดสถานการณ์โควิดไปแล้วในระดับหนึ่ง โอกาสที่จะเห็นการยุบสภาหรือลาออกนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแต่ ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่

ส่วนแนวทางที่พอจะเป็นทางออกจากวิกฤต หากมองในมุมสถานการณ์โควิด คือ การบริหารจัดการและการกระจาย อำนาจ แต่ไม่ใช่รวมอำนาจแบบที่นายกฯทำ คือดึงอำนาจตามพ.ร.บ. 31 ฉบับ ให้ไปอยู่กับตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นเลยที่ต้องทำเช่นนั้น

วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือกระจายอำนาจ แต่ต้องมีเรื่องของกรอบนโยบายที่ชัดเจน ไม่ใช่กระจายเพื่อให้แต่ละที่ทำงานกันอย่างสะเปะสะปะเหมือนกรณีช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา บางแห่ง บางจังหวัดประกาศให้กักตัวและล็อกดาวน์ แต่บางจังหวัดไม่ได้ทำ เลยดูสะเปะสะปะกันไปหมด

ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีกรอบงานใหญ่ในทิศทางนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล เพื่อให้แต่ละจังหวัดที่ได้รับการกระจาย อำนาจไปแล้วไปบริหารจัดการได้ดี

แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวัคซีน เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้เลย ถ้าวัคซีนยังไม่มาหรือยังไม่ทำให้เกิดการเข้าถึงได้ หรือยังไม่สามารถสร้างความเสมอภาคทางสาธารณสุขได้นั้นก็จะมีระลอกใหม่มาอีก เรื่องก็จะวนมาอีกส่งผลกระทบไปยังการเมือง สังคม

วันนี้เราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เราไปห่วงแต่เรื่องการรวมอำนาจการเมืองเท่านั้น เลยแก้ปัญหาไม่ได้ไม่ตรงจุดสักที

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

และ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์

กระแสจี้รัฐบาลให้ยุบสภา และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ลาออก หนาหูขึ้นมากในช่วงนี้นั้นเป็นเรื่องธรรมดาทางการเมืองที่ฝ่ายค้าน หรือคนเห็นต่าง จะเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และมีการพูดถึงการยุบสภา

ส่วนปัจจัยขอเรียกร้องให้ยุบสภาหรือลาออก ก็ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องธรรมดาทางการเมืองเมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เข้าตา ประชาชนก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

แต่รัฐบาลเองก็มั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาได้ผลดี สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลเชื่อไปอีกแบบ ขณะที่ประชาชนก็เชื่ออีกแบบ

อีกทั้งกระแสเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรงที่ทำให้เสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้น การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออกนั้นมีอยู่ตลอดเวลา

กลับกันสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เสียงเรียกร้องมีจำนวนน้อยด้วยซ้ำ เพราะหากไม่มีสถานการณ์เช่นนี้แล้ว เสียงเรียกร้องอาจมากกว่านี้อีก

ที่เห็นว่าประชาชนลุกฮือขึ้นมา เนื่องจากประชาชนไม่พอใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะโควิด-19 กระทบกับหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ดีเหมือนอย่างที่เชื่อมั่น

รัฐบาลเองก็มีกองเชียร์อยู่ด้วย แต่การแก้ปัญหา โควิด-19 ของรัฐบาลทำให้กองเชียร์หายไป และที่โผล่หน้าขึ้นมาใหม่ก็มีเช่นกัน

แต่การยุบสภาหรือการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เพราะโครงสร้างทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังคงเป็นแบบเดิม แม้กระทั่งการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็ยังคงเหมือนเดิม

หากยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ก็เชื่อว่า ส.ว. 250 คนก็ยังเป็นคนกำหนดว่าจะให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือการลาออกก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่แท้จริง เพราะถึงอย่างไรต่อให้เลือกตั้งใหม่ก็ยังคงเป็นพวกเดิมอยู่ดี

และเนื่องจากตนไม่ได้มีอำนาจตัดสินว่าควรจะยุบสภาหรือลาออก แต่สิ่งที่ตนอยากเห็นคือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก่อน แล้วเรื่องยุบสภาหรือลาออกค่อยว่ากันต่อไป

เพราะต่อให้เลือกทางใดทางหนึ่งระหว่าง 2 ทางนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรหากรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ หากรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนจะได้เลือกคน หรือกลุ่มที่ตัวเองเชื่อมั่น ถ้ารัฐธรรมนูญถูกแก้แล้วไม่ว่าจะยุบสภาหรือลาออกก็ได้ทั้งนั้น

ขอย้ำว่าควรจะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เสียก่อน เพราะต่อให้ยุบสภาหรือลาออกไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน