‘วัคซีนโควิด-19’ เรื่องต้องรู้เพื่อตัดสินใจ – หลังการระบาดของโรคโควิด-19 วัคซีนป้องกันโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนในประเทศคือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนโดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม ‘หมอพร้อม’ เพื่อเตรียมตัวรับวัคซีนอย่างทั่วถึง

แต่ความรู้ความเข้าใจต่อวัคซีนในสังคม รวมถึงความกังวลต่ออาการแพ้หลังฉีดวัคซีน ทำให้คนจำนวนมากยังลังเลที่จะฉีดวัคซีน

โดยขณะนี้มีวัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca)’ สำหรับผู้สูงอายุ และ ‘ซิโนแวค (Sinovac)’ สำหรับบุคคลทั่วไป สิ่งถูกถามถึงของวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ คือ ‘ประสิทธิภาพ’ รวมถึง ‘ผลข้างเคียง’ ที่เกิดขึ้น

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นพ.สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษา ผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่

– mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา วัคซีนชนิดนี้ จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา โดยมี BioNTech / Pfizer และ Moderna เป็นสองยี่ห้อที่ใช้เทคโนโลยีนี้

– Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะพัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะแล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติโดยมีวัคซีนจาก Johnson & Johnson, Sputnik V รวมถึง ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ที่ผลิตจากเทคนิคนี้

– Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ ไวรัสใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี ซึ่ง Novavax เป็นหนึ่งยี่ห้อที่ใช้เทคนิคนี้ในการผลิต

– Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ซึ่งเจ้าที่ใช้เทคนิคนี้คือ Sinopharm และ ‘ซิโนแวค’

นพ.สมชัยกล่าวต่อว่า เมื่อรับรู้ถึงที่มาที่ไปของเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนในแต่ละชนิดความคาดหวังต่อมาคงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านความเสี่ยง หรือ ‘ผลข้างเคียง’ ที่ดูจะมีหลายอาการจนน่าสับสน ซึ่งจริงๆ แล้วผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ผู้มีผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักมีอาการร่วมกัน อย่าง จุดปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดฉีดวัคซีน, อาการคลื่นไส้-มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลียและไม่สบายตัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง ที่พบแทบในวัคซีนทุกชนิด

นพ.สมชัยกล่าวอีกว่า ประเด็นที่คนไทยกำลังกังวลคือ ข่าวผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ โดยสำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่าวัคซีนชนิดนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกันกับภาวะดังกล่าว หลังมีรายงานว่ามีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกรายงานตรงกันว่า หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ภาวะดังกล่าวมีสัดส่วนเกิดขึ้นต่ำมาก เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว หลายฝ่าย จึงให้ข้อสรุปว่า การเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 จะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้วัคซีนไปเลย

นพ.สมชัยกล่าวต่อว่า ส่วน ‘ซิโนแวค’ ที่กำลังเข้าสู่ประเทศไทยหลักล้านโดส แม้ล่าสุดจะถูกเอ่ยถึงอาการข้างเคียงคล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนในหัวข้อ ดังกล่าว

ด้วยรายงานต่างๆ ของทั้ง ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ และ ‘ซิโนแวค’ อาจจะทำให้หลายคนยังหวั่นใจอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วทั้ง 2 วัคซีนต่างก็เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว มีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ และยังผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย อย่างถูกต้อง

ขณะที่ รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ให้ข้อมูลวัคซีนทั้งสองชนิดว่า ในประเทศไทย จะใช้ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป บริเวณต้นแขนรวม 2 โดส ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และหลีกเลี่ยงการฉีดให้กับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก ส่วน ‘ซิโนแวค’ จะฉีดให้กับ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี บริเวณต้นแขนรวม 2 โดส เช่นกัน แต่ห่างกัน 2-4 สัปดาห์และยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ต้องฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์

ไทยเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงแล้ว ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า, ผู้มีโรคประจำตัว หรือโรคกลุ่มเสี่ยง, ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากมีการนำเข้าวัคซีนมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มวางแผนงานฉีดวัคซีนให้บุคคลคนทั่วไปกับโรงพยาบาล 1,500 แห่งทั่วประเทศรวมถึงโรงพยาบาลพระรามเก้า ผ่านแพลตฟอร์ม หมอพร้อมแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE Official Account ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อีกทั้งยัง เปิดให้ประชาชนได้ศึกษาวิธีใช้งาน รวมถึงรายละเอียดที่ต้องแจ้ง ผ่านทางเว็บไซต์ https://หมอพร้อม.com อีกด้วย เชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลของวัคซีนโควิด-19 ที่มากพอ จะช่วยสร้างความหวังให้คนไทยได้ตัดสินใจเลือก ‘ทางเลือก’ ในการก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยตัวเอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.praram9.com/covid19-vaccine/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน