นวัตกรรมเพื่อชุมชน ไอเดียนศ.มทร.ธัญบุรี – เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มุ่งพัฒนาสินค้าและส่งเสริมธุรกิจภายในชุมชน นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) บูรณาการเชื่อมโยงศาสตร์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันในการเรียนรู้รายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน พร้อมเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ความมีน้ำใจ ปลูกฝังการเอื้ออาทรต่อสังคม

นายธรรมนูญ กิตติรักษ์ ตัวแทนนักศึกษากลุ่มกระเป๋าผ้าย้อมฟักข้าว เล่าว่า เพื่อต่อยอดธุรกิจของชุมชน นำเศษฟักข้าวที่เหลือจากการทำเครื่องดื่มและสบู่ของวิสาหกิจสวนเราเกษตรอินทรีย์มาย้อมสีผ้า ทำเป็นผลิตภัณฑ์ถุงผ้าสบู่ฟักข้าวบรรจุภัณฑ์ของชุมชน และกระเป๋าผ้าจากฟักข้าวรูปทรงทันสมัย สะดวกสบายใช้ได้ทุกวัน

ด้าน นายอภินันท์ แก้วสุโพธิ์ จากกลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษจากกาบกล้วย เล่าว่า หลังจากเก็บผลเพื่อต่อยอดพืชเศรษฐกิจของชุมชนบึงกาสาม นำกระดาษกาบกล้วยมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ใส่ของใช้ อาหาร ขนม ในรูปแบบกล่อง กระดาษห่อ ถุงกระดาษ สมุดทำมือ และของตกแต่งบ้าน ขั้นตอนการทำ หั่นกาบกล้วยเป็นชิ้นเล็กๆ ล้างด้วยน้ำสะอาด นำไปต้มจนเนื้อกาบกล้วยเริ่มเปื่อย ใส่โซดาไฟลงไปเพื่อให้เนื้อของ กาบกล้วยเปื่อยและนุ่มขึ้น นำมากรองล้างทำความสะอาด ปั่นให้ละเอียด เทใส่แม่พิมพ์ ตากแดด 1-2 วัน จะได้กระดาษจากกาบกล้วยนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์

ขณะที่ น.ส.ธิดารัตน์ ใจเปี้ย เล่าถึงนวัตกรรมการมัดย้อมผ้าคลุมไหล่จากใบมะม่วงว่า กลุ่มแม่บ้านชุมชนหมู่บ้านพรพิมานมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากการเกษตรของชุมชน เช่น ผักตบชวาที่นำมาย้อมผ้าและ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ คณะผู้วิจัยจึงมองเห็นนวัตกรรมที่นำมาพัฒนา เช่น ใบมะม่วง โดยนำใบมะม่วงแห้งมาล้างทำความสะอาดต้มในน้ำเดือด ใส่ผงซักฟอกลงไป ตามด้วยผ้าคลุมไหล่ จับเวลา 30 นาที นำผ้าขึ้นล้างพักทิ้งไว้ นำไปตากจากนั้นกรองน้ำต้มใบมะม่วง นำผ้าที่ตากแล้วมามัดตามที่ต้องการ รัดยางให้แน่น นำไปใส่หม้อน้ำที่กรองใบมะม่วงออก จับเวลา 1 ช.ม. นำผ้าที่ย้อมขึ้นจากหม้อ พักทิ้งไว้ให้พออุ่น คลายผ้าออก นำไปตากให้แห้ง กลายเป็นผ้าคลุมไหล่สร้างรายได้ให้ชุมชน

นอกจากผลิตภัณฑ์ทั้งสามในรายวิชายังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เยลลี่ตะไคร้ การย้อมสีธรรมชาติจากใบหญ้าหวาน ขนมเซมเบ้จากกล้วย ล้วนเป็นไอเดียของนักศึกษาที่บูรณาการศาสตร์วิชานำความรู้ไปถ่ายทอด สร้างรายได้สร้างอาชีพสู่ชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน