รายงานพิเศษ

ไม่ห่วงคงไม่ได้ กับ ‘ภาวะสังคมไทย’ ไตรมาสแรกของปีนี้ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงออกมา

เพราะแต่ละมิติลดฮวบฮาบ ที่เพิ่มมีแต่หนี้สินครัวเรือนเท่านั้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่าภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564 พบว่ามิติคุณภาพของคนอัตราการว่างงานสูงขึ้น แรงงานมีชั่วโมงการทำงานลดลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ยังอยู่ในระดับสูง

ด้านสุขภาพ พบว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง มิติความมั่นคงทางสังคม คดีอาญา การเกิดอุบัติเหตุทางบก และการร้องเรียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น มิติด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง

สถานการณ์แรงงาน กำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม

แต่ที่น่าห่วงคือการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง ผู้ว่างงานมีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2564 ได้แก่

1.ผลกระทบของ COVID-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ที่ยืดเยื้อและมีความรุนแรงเป็นระยะๆ อาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตาม เป้าหมาย แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ธุรกิจอาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน

2.แรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยวของ ททท. คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2569 อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน

และ 3.ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ เพราะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ ผู้ประกอบการเลื่อนการขยายตำแหน่งงานใหม่ออกไป กระทบกับการหางานของนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน

ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในปี 2563 กำลังจะสิ้นสุดลง กระทบต่อแรงงานประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง

รวมเป็น 6.3 แสนคน

ส่วนหนี้ครัวเรือนขยายตัว มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 4.0% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี แต่ขยายตัวในอัตราที่ช้าลง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้

สุดท้ายความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

เห็นภาวะทางสังคมไทยไตรมาสแรกแล้ว บอกได้คำเดียวว่า ‘เหนื่อย’ ยิ่งกับสถานการณ์โควิดยังลามไปเรื่อยๆ ไม่มีท่าทีสิ้นสุด

ต้องจับตาต่อในไตรมาส 2 ว่าตัวเลข จะออกมา ‘ดีขึ้น’ หรือ ‘สาหัส’ กว่าที่เห็นและเป็นอยู่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน