ล้มแผน หลิวหยาง ยึดฉางซา(94) – หากศึกษาจากฐานข้อมูลของ “กองทัพแดง” หลังการประชุม 7 สิงหาคม กรมการเมืองเฉพาะกาลของกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากสู่ท้องถิ่นแต่ละแห่งถ่ายทอดมติ

ฟื้นฟูองค์กรจัดตั้งของพรรค

ก่อนหน้านี้ กรรมการกลางพรรคได้กำหนด “เกี่ยวกับโครงร่างการลุกขึ้นสู้ฤดูใบไม้ร่วงของชาวนาในหูหนาน หูเป่ย กว่างตง เจียงซี รวม 4 มณฑล” ตกลงทำการทั้ง 4 มณฑล

ซึ่งมีพื้นฐานการเคลื่อนไหวของชาวนาค่อนข้างดีในช่วงระยะการปฏิวัติใหญ่

เมื่อการประชุม 7 สิงหาคม สิ้นสุดลง เหมาในฐานะเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจกลางเดินทางไปหูหนานเพื่อปรับปรุงกรรมการมณฑลหูหนาน พร้อมทั้งนำการก่อการลุกขึ้นสู้ในฤดูใบไม้ร่วง

ที่ประชุมกรรมการหูหนาน ฉางซา ได้อภิปรายเน้นหนักใน 2 ปัญหา

ปัญหาหนึ่งคือปัญหาการลุกขึ้น ปัญหาหนึ่งคือปัญหาที่ดิน เหมาได้แสดงความคิดอย่างสำคัญต่อ 2 ปัญหานี้

รายละเอียดอันปรากฏผ่านหนังสือ “กองทัพแดง” ดำเนินไปดังนี้

เกี่ยวกับปัญหาการลุกขึ้นสู้เหมาเสนอว่า “การปลุกระดมก่อการลุกขึ้นสู้มิบังควรอาศัยพลังของชาวนาแต่อย่างเดียว จำเป็นต้องมีความช่วยเหลืออย่างหนึ่งของการทหาร”

“ความผิดพลาดของพรรคเราในอดีตก็คือได้มองข้ามการทหาร

ปัจจุบัน ควรใช้พลังร้อยละ 60 ใส่ใจในขบวนการเคลื่อนไหวทางทหาร ทำการยึดอำนาจรัฐ สร้างอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืน”

เกี่ยวกับปัญหาที่ดินเหมาเห็นว่า

“การริบเอาที่ดินของเจ้าที่ดินใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถสนองความเรียกร้องและความต้องการของชาวนาได้

จำเป็นต้องยึดที่ดินของเจ้าที่ดินให้แก่ชาวนาจึงสามารถคว้าเอาชาวนาไว้ได้ทั้งหมด”

จากนั้น กรรมการมณฑลยึดถือสภาพตามความเป็นจริงตกลงให้รวมศูนย์กำลังนำเอาแผนการเดิมของการลุกขึ้นสู้ทั่วมณฑลหูหนาน เปลี่ยนเป็นการปลุกระดมใน 7 อำเภอของหูหนาน

ก่อตั้งคณะกรรมการประจันส่วนหน้าข้าศึก มีเหมาเป็นเลขาธิการ

กําลังหลักที่เข้าร่วมก่อการประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือกองพลคุ้มกันกองบัญชาการใหญ่กองกำลังรบแนวหน้าที่ 2 กองกำลังทหารรวมกลุ่มที่ 4 เดิม สังกัดกองทัพปฏิวัติประชาชาติ

กองทหารส่วนหลังนี้มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อยู่จำนวนไม่น้อย

อีกส่วนหนึ่ง คือกองทหารชาวนาในผิงเจียงและหลิวหยางของหูหนาน กองกำลังติดอาวุธชาวนาในฉงหยางและทงเฉิง ทางเหนือของหูเป่ย กองกำลังติดอาวุธกรรมกรเหมืองถ่านหินอันหยวน

รวมทั้งหมดประมาณ 5,000 คน รวมเป็นกองพลที่ 1 กองทัพปฏิวัติกรรมกรชาวนา

เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อการในหนานซาง จึงไม่เพียงเป็นปฏิบัติการของกองทัพโดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธของกรรมกรชาวนาเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก

หากยังชูธงกองทัพกรรมกรชาวนาอย่างเปิดเผย

การก่อการเปิดฉากในวันที่ 9 กันยายนเข้ายึดหลี่หลิง หลิวหยางและย่านตลาด การค้า แต่เนื่องจากกำลังกองกำลังทหารปฏิกิริยามีความเข้มแข็งกว่า กองทหารปฏิวัติต้องพ่ายแพ้อย่างหนัก

จุดมุ่งหมายในการยึดฉางซาไม่สามารถปรากฏเป็นจริง

เหมาได้แสดงศักยภาพในการสรุปประสบการณ์และบทเรียนจากการปฏิบัติ มองเห็นว่าแผนการบุกโจมตีฉางซาไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแผนการเดิมอย่างฉับพลัน

มีการประชุมคณะกรรมการประจันหน้าข้าศึกในวันที่ 19 กันยายนที่เหวินเจีย

หลังจากผ่านการอภิปรายอย่างดุเดือดและรุนแรงได้ปฏิเสธความเห็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยืนกราน “ยึดหลิวหยางบุกตรงไปยังฉางซา” ตกลงเขตพื้นที่ผิงเจียง หลิวหยาง อย่างรวดเร็ว

เข้าไปในมณฑลเจียงซีเคลื่อนย้ายไปทางใต้ตามเทือกเขาหลอเซียวซาน

แสวงหาพื้นที่สามารถยืนหยัดต่อไปได้ในเขตภูเขาซึ่งข้าศึกควบคุมได้ค่อนข้างเปราะบาง เพื่อรักษาพลังปฏิวัติไว้ จากการบุกโจมตีเมืองใหญ่เปลี่ยนเป็นการเคลื่อนพลสู่ชนบท

นี่คือจุดเริ่มต้นใหม่ซึ่งมีความหมายชี้ขาดในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของประชาชนจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน