จัดทัพ ใหม่ ที่ซานหวาน(95) – ยิ่งอ่าน ทวีป วรดิลก ยิ่งมองเห็นภาพได้ชัด เหมาเคลื่อนทัพลงมาทางใต้ ระหว่างทางต้องสู้รบกับกองทหารก๊กมินตั๋งหลายครั้ง ต้องพ่ายแพ้ก็หลายครั้ง จากปากคำของเหมาเองนั้น

กองทัพที่เหมาจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิต

“ระเบียบวินัยอ่อนมาก การฝึกอบรมทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำ ทั้งพลทหารและนายทหารมีลักษณะโลเล ไม่แน่นอน ที่หนีทัพไปก็มาก”

ถึงวันที่ 12 กันยายน กองทัพของเหมาก็ยึดหลี่หลิงได้

ตลอดระยะเวลาที่มีการสู้รบกันนี้กำลังของกองทัพเหมาก็ร่อยหรอลงไปทุกที แม้แต่ ตัวแม่ทัพเองคือหยีซาโตวก็หนีไปเข้ากับฝ่ายก๊กมินตั๋ง พาทหารในบังคับบัญชาไปด้วยหลายร้อยคน

ทหารก๊กมินตั๋งอีกส่วนหนึ่งก่อการกบฏขึ้นเพราะถูกห้ามปล้นสะดม

เมื่อกำลังทหารต้องลดลงไปทุกที สถานการณ์โดยทั่วไปอยู่ในสภาพสิ้นหวัง เหมาจึงตัดสินใจไม่ยอมเข้าไปยึดฉางซาตามแผนที่วางไว้เดิม เพราะกำลังรบของเหมาขณะนั้นมีเพียงหยิบมือเดียว ถึงแม้จะมีคนงานในตัวเมืองลุกฮือขึ้น

กองทัพกระจ้อยร่อยก็จะต้องถูกบดขยี้อย่างแน่นอน

และถึงจะยึดเมืองฉางซาไว้ก็คงจะอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน ในที่สุด กองทหารก๊กมินตั๋งก็จะสามารถยึดฉางซากลับคืนไปได้ด้วยกำลังที่เหนือกว่าหลายเท่าตัว การตัดสินใจของเหมาจึงหมายถึงการหาฐานที่มั่น

ที่จะต้องอาศัยเวลาสร้างกองทัพของประชาชนที่แท้จริงขึ้น

ประกอบกับสถานการณ์ภายในพรรคขณะนั้นคณะกรรมการกลางภายใต้การนำของ จางกว๋อเถาและหลี่ลี่ซานยังไม่รู้ถึงสภาพความเป็นจริงๆ ต่างตามชนบทที่เป็นดินแดนส่วนใหญ่ของจีน เหมากล่าวถึงการนำของพรรคขณะนั้นว่า

“มีนโยบายที่ขัดแย้งกันเอง สนับสนุนการติดอาวุธของประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ละเลยกิจการด้านการทหาร”

ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันเอง และก็ไม่มีวันจะดำเนินการปฏิบัติไปตามนโยบายดังกล่าวได้เลย เพราะถ้าสนับสนุนนโยบายติดอาวุธประชาชนทั่วไปก็จะต้องพิจารณาสภาพที่เป็นจริงในแง่การทหารเสียก่อน

ถ้าไม่พิจารณาหรือไม่รู้ถึงสถานการณ์ด้านการทหารถึงจะติดอาวุธก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้

การตัดสินใจครั้งสำคัญของเหมาอุบัติขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เหมาได้เรียกประชุมทหารที่เหลืออยู่ทั้งหมดซึ่งมีเพียงพันเศษ มาชุมนุมกันที่สนามกีฬาหน้าโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่ เหวินเจียซีในหลิวหยาง

นี่เป็นจังหวะเวลาอันสำคัญยิ่งในทางการเมือง การทหาร

บนเส้นทางที่มุ่งตรงไปสู่เทือกเขาจิ่งกัง เหมาชี้แจงให้ทุกคนทราบว่า กองทัพ “กระจ้อยร่อยนี้จะเดินทางขึ้นจิ่งกังซานเพื่อดำเนินการปฏิวัติต่อไป” ภายหลังชี้แจงแล้วเหมาก็ถามทหารทุกคนว่า “เรากล้าพอที่จะปฏิวัติต่อไปอีกหรือไม่”

ทหารตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เรากล้า”

จากนั้นกองทัพน้อยๆ ของเหมาจึงได้เคลื่อนกำลังขึ้นเทือกเขาจิ่งกัง เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนเป็นต้นมา เพียงแต่เริ่มออกเดินทางทหารก็ยังหนีทัพไปอีก 200 คน คงเหลือขุมกำลังแท้ๆ เพียง 800 คน

พร้อมด้วยปืนเล็กยาว 80 กระบอก

ภายใต้การนำของเหมา กองทัพนี้มุ่งขึ้นภูเขาสูงขึ้นไปและสูงขึ้นไปโดยไม่หยุดยั้ง จิ่งกังซานเป็นทิวเขาติดต่อกันเป็นพืดยาวเหยียดอยู่ระหว่างมณฑลหูหนานกับมณฑลเจียงซี

บริเวณพื้นที่โดยรอบคิดเป็นระยะทางได้ยาวถึง 150 ไมล์

ทั่วทั้งทิวเขามีป่าครอบคลุมอยู่ทั่วไป อุดมด้วยต้นสนและไผ่ เนื่องจากมีฝนตกให้ความชุ่มฉ่ำเพียงพอ จึงสามารถปลูกข้าว ชา ฝ้าย ถั่ว เป็นต้น ได้ผลดี

นอกจากนี้ จิ่งกังซานยังได้เปรียบในด้านชัยภูมิทางทหาร

เนื่องจากจิ่งกังซานตั้งอยู่ประชิดกับพรมแดนของมณฑลต่างๆ ถึง 3 มณฑล ถ้าถูกกองทหารจากมณฑลหนึ่งเข้าโจมตี ก็สามารถถอยหนีไปออกอีกมณฑลหนึ่งได้ ทางเข้าก็มีเพียง 5 ทางเท่านั้น

แต่ละทางคับแคบ สะดวกในการป้องกันเท่าๆ กับยากลำบากแก่การโจมตี

ในวันที่ 29 กันยายน กองทหารก็เดินทางถึงหมู่บ้านซานหวาน ได้หยุดพักที่หมู่บ้านแห่งนี้ 5 วัน เริ่มดำเนินการให้การศึกษาทางการเมือง และจัดวางพื้นฐานเพื่อจัดตั้งกองทัพขึ้นมาใหม่

วันที่ 3 ตุลาคมจึงเดินทางขึ้นเขาต่อไป

ทวีป วรดิลก เห็นว่า ในช่วงเวลา 5 วันนี้สำหรับกำลังทหารกองนี้นับว่ามีความสำคัญทีเดียวเพราะเหมาเป็นผู้ให้การศึกษาด้วยตนเอง อบรมบ่มสอนความรู้ทางการเมืองและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในจีนขณะนั้น

ต่อมาได้มีการเรียกจุดพักที่ซานหวานว่า “การจัดทัพใหม่ที่ซานหวาน”

อาจกล่าวได้ว่า เหมาเป็นนักปฏิวัติจีนคนแรกที่ถือเอาความสำนึกทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่ากำลังทหารหรือกำลังคน เมื่อไปถึงหมู่บ้านเซี่ยซุยหวาน เหมาก็จัดกองทัพและพรรคขึ้นใหม่

แต่ละหมวดต้องมีสมาชิกพรรคประจำ แต่ละกองร้อยก็จะต้องมีหน่วยของพรรค เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน