ทอดมอง สู่ชนบท สู่ชาวนา(จบ) – ต้องยอมรับว่าการประสบเข้าปฏิบัติการปราบปรามของเจียงไคเช็กที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนเมษายน 1926 ได้สร้างความเสียหายให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นอย่างสูง

เท่ากับเป็นสัญญาณ “เตือน” ครั้งสำคัญ

แม้การต่อสู้ในการช่วงชิงการนำ ไม่ว่าจะในระหว่างปฏิบัติงาน ณ โรงเรียนนายร้อยหวางพูจะสะท้อนให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

แม้เมื่อเข้าร่วมสงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ

การปลุกระดมชาวนาให้เข้าไปมีส่วนในการหนุนเสริมการรุกกำลังทางทหาร แต่ก็สร้างความหวาดระแวงเป็นอย่างสูงให้เกิดขึ้น

ระหว่างกองทัพที่แนบชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ กับที่แนบชิดกับพรรคก๊กมินตั๋ง

ยิ่งการต่อสู้ระหว่างปีกซ้ายกับปีกขวาภายในพรรคก๊กมินตั๋งทวีความแหลมคมมากเพียงใด ยิ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงมากเพียงนั้น

ในที่สุด การล้อมปราบเข่นฆ่าในเดือนเมษายน 1927 ก็เป็นเส้นแบ่ง

มีความพยายามจากศูนย์การนำของพรรคในการพลิกฟื้นสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดเข็มมุ่งในการลุกขึ้นสู้อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นที่หนานซาง ไม่ว่าจะเป็นที่ฉางซา

ในห้วงเวลาเช่นนี้เหมาปฏิบัติตามคำชี้แนะและมติจากศูนย์กลางพรรคด้วยความ เชื่อมั่น โดยเฉพาะเมื่อได้รับมอบหมายให้ก่อการในพื้นที่มณฑลหูหนาน

เท่ากับเป็นการทดสอบว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเมืองจะเป็นเช่นใด

บทสรุปไม่ว่าจะจากตัวของเหมาเอง ไม่ว่าจะจากความพ่ายแพ้ของส่วนอื่น เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายของก๊กมินตั๋งที่ยึดกุมอำนาจรัฐอยู่ในฐานะได้เปรียบ

แม้กำลังของคอมมิวนิสต์จะยึดได้ แต่ไม่นานก็ถูกรุกและยึดคืนกลับ

การแตกทัพจากฉางซาทำให้กำลังที่เหลืออยู่ของเหมาถอยร่นเข้าไปสู่ชนบทอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น กระทั่งไปถึงเป้าหมายคือชนบทแห่งเทือกเขาจิ่งกังซาน

นั่นย่อมเป็นทางเลือกใหม่ในการต่อสู้ของเหมาและพลพรรค

หากมองจากการตัดสินใจของเหมาไม่น่าจะเป็นการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น หากแต่น่าจะค่อยๆสะสมและมองเห็นเหตุผลและความชอบธรรมหนักแน่น มากยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่าพื้นฐานความคิดของเหมาเป็นอย่างไร

พื้นฐานหนึ่งของเหมาแนบแน่นอยู่กับประวัติศาสตร์และความเป็นจริงในการต่อสู้ของชาวนาจีนตั้งแต่ยุคของเล่าปังกระทั่งยุคของจูหยวนจาง

เหมาอ่าน “สามก๊ก” และ “ซ้องกั๋ง” อย่างเจนจบ

พื้นฐานในทางวรรณคดีได้เข้าไปเสริมพื้นฐานในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงก่อให้เกิดการประสานระหว่างความฝันกับความเป็นจริง

โดยเฉพาะเมื่อเห็นพลังของ “ชาวนา” ที่ประสบโดยตนเองที่หูหนาน

การถอยร่นจากฉางซาไปยังเทือกเขาจิ่งกังซานจึงเท่ากับประสานความเชื่อมั่นโดยพื้นฐานของเหมากับความเป็นจริงที่ประสบ

ก่อรูปขึ้นเป็นการตัดสินใจเข้าป่า ขึ้นเขา

จากนี้จึงเห็นได้ว่า แต่ละขั้นตอนในทางความคิดของเหมาดำเนินไปมิใช่โดยการคาดคิดหรือประเมินเอาอย่างเลื่อนลอย หากแต่ผ่านขั้นตอนในการปฏิบัติ และสรุป

สรุปจากความเป็นจริงในประวัติศาสตร์

ไม่ว่าประวัติศาสตร์จากที่ศึกษาผ่านบทบาทของเล่าปังผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ไม่ว่าประวัติศาสตร์จากที่ศึกษาผ่านบทบาทของจูหยวนจางผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง

ขณะเดียวกัน ก็ลงไปเคลื่อนทั้งกับ “กรรมกร” และ “ชาวนา”

ความเป็นจริงที่ได้ประสบจากการเคลื่อนไหวในเมือง ในโรงงาน เมื่อประสาน เข้ากับความเป็นจริงที่ได้ประสบจากการเคลื่อนไหวในชนบทกับชาวนา

ก่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินหน้าไปสู่แนวรบใหม่ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน