ถกปมถูกคุกคามทางเพศ ในรั้วสถานศึกษา – มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ” เมื่อไม่นานนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์

น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชาย ก้าวไกล กล่าวว่าการคุกคามทางเพศมีทั้งทางตรง ทางอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง คำพูดร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ ผู้เป็นเป้าของการกระทำนั้นเดือดร้อน อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย แบ่งเป็น 1.การคุกคามทางเพศออฟไลน์ ผู้ถูกกระทำมีอำนาจหรือการต่อรองน้อยกว่า 2.การคุกคามทางออนไลน์ ผู้กระทำจะค้นหาและเป็นฝ่ายสังเกตว่าผู้ถูกกระทำเป็นใครเพื่อหาช่องกระทำการคุกคาม

น.ส.อังคณากล่าวต่อว่า ในปี 2562 มีข่าวการคุกคามทางเพศ 333 ข่าว น่าตกใจว่าเป็นข่าวเด็ก วัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา กว่าร้อยละ 84.8 และจากการติดตามข่าวการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาช่วงปี 2562-2564 พบว่ามี 12 กรณี แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือครู ส่วนผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เก็บเรื่องไว้ไม่กล้าบอกใคร จนครอบครัวเห็นจากโทรศัพท์โดยบังเอิญ ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดป่วยโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย ส่วนการคุกคามทางเพศในระดับมหาวิทยาลัย 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าคืออาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ เป็นต้น โดยเข้ามาในลักษณะความห่วงใย เป็นแฟนและพยายามข่มขืน ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ต้องการดำเนินคดีกับคู่กรณี

“มูลนิธิมีข้อเสนอว่า 1.สถานศึกษาควรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้แก่นักเรียน นักศึกษา 2.ควรมีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย และ 3.กฎหมายที่คุ้มครองการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์มีน้อยมากหรืออาจไม่เคยหยิบยกมาเป็นประเด็นพิจารณาเลย เรื่องนี้เป็นช่องว่างของกฎหมาย ทั้งนี้ มูลนิธิ ร่วมมือกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวและเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา เด็กเยาวชนผู้ถูกกระทำ ร้องเรียนมาได้ที่เพจของมูลนิธิหญิงชาย ก้าวไกล” น.ส.อังคณากล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านักศึกษาชายตีความนิยามแบบแคบว่าต้องเป็นการข่มขืนถึงเรียกว่าคุกคามทางเพศ แต่นักศึกษาหญิงจะตีความแบบกว้างโดยมองว่าการคุกคามทางเพศจะครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้วาจา สายตา ภาษากาย ข่มขืน ในขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีกระบวนการช่วยเหลือเรื่องนี้เพราะคิดว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง

“เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือมหาวิทยาลัยต้องเปิดอบรมนักศึกษาให้เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการคุกคามทางเพศว่าครอบคลุมทั้งกาย วาจา สายตา ให้รู้จักการเคารพสิทธิเนื้อตัวผู้อื่น ควบคู่กับการเปิดพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนที่สร้างความปลอดภัยเป็นมิตรกับทุกคนและเป็นธรรม” ดร.ชเนตตีกล่าว

นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าวิถีวัฒนธรรมไทยที่ส่งต่อกันมาจากผู้ใหญ่สู่เด็กคือรากเหง้าของปัญหา บวกกับปัจจัยร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะการถูกกระตุ้นจากสื่อที่เข้าถึงง่าย ทำให้สถานการณ์การคุกคามทางเพศรุนแรงและกว้างขึ้น การนำเยาวชนที่ทำผิดหนึ่งคนมาลงโทษไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้ หากไม่แก้ไขที่รากเหง้า การขุดรากเหง้านั้นทำยากแต่สามารถเปลี่ยนแนวทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้ โดย 1.สถานศึกษาทุกระดับต้องมีหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านมืดของการคุกคามทางเพศ

2.สถานศึกษาทุกแห่งต้องมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็น มิตร ปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม และ 3.ต้องมีการลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียนแทนการลงโทษแบบผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม

ด้านตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า ส่วนตัวมองว่านักศึกษาส่วนหนึ่งอยากผูกมิตรแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นทำให้คนอื่นอึดอัด รู้สึกถูกคุกคาม จึงอยากฝากทุกคนว่าเวลาจะพูดหรือจะแสดงออกอะไรควรคิดให้เยอะว่าสิ่งนั้นจะไปกระทบจิตใจผู้อื่นหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน