เบื้องหน้า ตำราใหม่ของบังเต๊ก(5) – เมื่อเข้าใจรากฐานของเอียวสิ้ว เมื่อเข้าใจต้นทุนอันหนักแน่นและมั่นคงเนื่องจากเกิดมาในตระกูลเอียวของเอียวสิ้วแล้วจะยิ่งทำให้การแกะรอยของเอียวสิ้วเพิ่มความ เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อเผชิญประสบกับเตียวสงจากแคว้นจก

ยุทธนิยายสามก๊กบรรยายว่า เอียวสิ้วได้ฟังดังนั้นก็อดสูแก่ใจ สะกดความโกรธไว้แล้วจึงว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นขุนนางต่ำต้อย หน้าที่ของข้าพเจ้าก็ใหญ่โตและที่สำคัญคือ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้งานของท่านผู้ใหญ่อย่างท่านสมุหนายก”

ถึงแม้จะพยายามเร้นซ่อนความรู้สึกอันอาจเรียกได้ว่า “อดสูใจ” แต่ก็ยังโผล่แพลมออกมา “ข้าพเจ้าก็พอใจเสมือนหนึ่งได้มีโอกาสฝึกหัดอบรมตัวเองเป็นอย่างดี” กับสมุหนายก โจโฉ

ก่อนหน้านี้หลอกวานจงนิยามเอียวสิ้วว่า เป็นคนฉลาดเกินมนุษย์ เป็นคนเจ้าคารม

การเผชิญประสบระหว่างเตียวสงกับเอียวสิ้วถือได้ว่าเป็นการประสบพบพานระหว่างยอดคน 2 คน คนหนึ่งมาจากแคว้นจก อีกคนหนึ่งเกิดและเติบโตภายในแคว้นวุย

ระหว่างบรรทัดของแต่ละคำพูดจึงสะท้อนความนัย

เด่นชัดว่า ไม่ว่าเตียวสง ไม่ว่าเอียวสิ้ว ดำรงอยู่ในสถานะแห่งความเป็น “นักการทูต” อันฉาบไว้ด้วยกัปปิยโวหาร กระนั้น ก็ไม่ได้ปิดบังความรู้สึกและความต้องการลึกๆ

ความต้องการที่จะ “เสี้ยม” ความต้องการที่จะเจาะเข้าไปในฐาน “ข้อมูล” ของอีกฝ่าย

ยิ่งศึกษาลงลึกไปภายในรายละเอียดก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นความคมเฉียบ ไม่ว่าคนของแคว้นจก ไม่ว่าคนของแคว้นวุย ยืนยันว่ามีความพร้อมในด้านข้อมูล มีความเข้าใจในแต่ละเป้าหมาย

การกระหน่ำเข้าใส่ตัวตนของโจโฉทำให้ป้อมค่ายแตกโดยอัตโนมัติ

ทางหนึ่ง “เขาว่ากันว่าท่านโจโฉไม่รู้อะไรจริง ในตำราของขงจื่อหรือเม่งจื่อ แม้แต่ความเชี่ยวชาญทางการทหารก็ไม่ถึงกับแตกฉานในตำราของซุนวู ท่านโจโฉรู้แต่เพียงใช้กำลังหักโหมแล้วยึดเอาเท่าที่จะสามารถยึดได้

ข้าพเจ้าจึงมองไม่เห็นว่า ท่านโจโฉจะให้ความรู้ความชำนาญที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านได้สักแค่ไหน” ไม่เพียงแต่ตีแสกหน้า หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือการย้อนศร

กระทบโดยตรงไปยังคำพูดของเอียวสิ้วเอง

รู้ทั้งรู้ว่าเจตนาของเตียวสงเป็นอย่างไร แต่เอียวสิ้วก็ยังยืนยัน “ซึ่งท่านว่าเช่นนั้นก็ตามที เพราะท่านอยู่บ้านนอกบ้านนาจะไปรู้อะไรในจริงแท้แน่นอน จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านสมุหนายกมีสติปัญญาสามารถแค่ไหน

เอาเถิดเราจะแสดงให้เห็นบ้างแต่เพียงบางอย่าง”

แล้วเอียวสิ้วก็ให้คนรับใช้ไปหยิบหนังสือที่หิ้งมาให้เล่มหนึ่งส่งให้เตียวสง หนังสือนั้นชื่อ “ตำราใหม่ของบังเต๊ก” เป็นการนำเอาผลงานในเชิงอรรถกถาจากฝีมือการวิเคราะห์ของโจโฉ

เมื่อเตียวสงอ่านจบก็ถามขึ้นว่า “ท่านเอาหนังสือนี้มาให้ข้าพเจ้าอ่านด้วยเหตุผลอันใด”

เอียวสิ้วตอบว่า “นี่เป็นหนังสือที่ท่านสมุหนายกประมวลหลักพิชัยสงครามสมัยเก่าและสมัยใหม่เข้าด้วยกันแล้วแต่งใหม่ตามแบบที่ท่านอาจารย์ซุนวูทำไว้แต่เดิม ท่านอาจไม่ชอบความมีสติปัญญาสามารถของท่านสมุหนายกก็ไม่เป็นไร แต่หนังสือเล่มนี้จะดำรงอยู่ชั่วลูกหลานเหลนเป็นแน่”

“หนังสือนี้น่ะหรือ” เป็นคำตอบจากเตียวสง “เด็กๆทุกคนในเมืองจกท่องได้ขึ้นใจ ไฉนท่านเรียกว่าเป็นหนังสือใหม่ คนโบราณสมัยชุนชิว เลียดก๊ก ท่านโจโฉไปคัดลอกมาจะหลอกใครก็ไม่ได้ดอก หลอกได้แต่ท่านคนเดียว”

นี่ย่อมสร้างความประหลาดใจให้กับเอียวสิ้วอย่างยิ่ง “ซึ่งท่านสบประมาทด้วยการกล่าวว่าเด็กๆในเมืองจกก็ท่องหนังสือนี้ได้ขึ้นใจนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะหาประโยชน์อันใดมิได้

เพราะหนังสือนี้ยังไม่ได้แพร่หลายไปที่อื่น

แม้ว่าจะได้มีการคัดสำเนาไว้แล้วก็ตาม แต่ล้วนยังอยู่ในห้องสมุดส่วนตัวของท่านสมุหนายกทั้งสิ้น” เป็นการยืนยันด้วยความมั่นใจ

“ท่านไม่เชื่อข้าพเจ้าพูดหรือ ข้าพเจ้าเองยังท่องจำได้จะสาธยายให้ฟังเป็นไรมี”

แล้วเตียวสงก็ว่าปากเปล่าความในหนังสือ “ตำราใหม่ของบังเต๊ก” ทั้งเล่ม คำต่อคำ ตั้งแต่ต้นจนจบโดยมิได้มีการวิปลาส คลาดเคลื่อนแม้เพียงคำเดียว

“ท่านอ่านเพียงครั้งเดียวก็จำได้ทั้งหมด ความจำท่านน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก” เป็นคำชมจากเอียวสิ้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน