นวัตกรรมสู้ภัยโควิด เปลปกป้อง-มดพิทักษ์ – จากสภาวะที่ประเทศไทย ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 มานานแรมปี หลายองค์กรได้ผลิตนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในภารกิจการแพทย์

ล่าสุด ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สร้างนวัตกรรม ‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ หรือเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

โดยออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกน ปอดผู้ป่วย ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาลหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า เปลความดันลบนี้ นอกจากจะตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่า

เอ็มเทค สวทช. ยังได้ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานดังกล่าวให้กับ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นรายแรกและ รายเดียว เพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์

พร้อมมอบเปลความดันลบ 1 ชุด ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อใช้ในภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน

ทางด้านมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดตัว อุปกรณ์เก็บกักละออง ลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน เครื่องแรกของโลก ที่ใช้งานได้ผลถึง 99.99%

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. กล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมงานนักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ ขณะนี้ได้ถูกนำมาใช้งานในกลุ่มทันตกรรม เป็นการลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก

จุดเด่นของอุปกรณ์ สามารถใช้ครอบเฉพาะส่วนจมูกและปากของคนไข้ โดยที่ส่วนหูจะไม่อยู่ในกล่อง จึงไม่เกิดเสียงก้องหรือรบกวนคนไข้ขณะทำหัตถการ

ในส่วนปลอกแขนและฐานรอง ใช้วัสดุชนิดเดียวกับหน้ากากอนามัย SMS FABIC ที่มีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่านและอากาศไหลผ่านได้ดี ทำให้มีอากาศใหม่ที่เข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจขณะทำหัตถการ

อุปกรณ์ชนิดนี้ไม่ตรวจพบแรงต้านการหายใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกแม้จะนอนทำฟันอยู่เป็นเวลานานก็จะไม่มีอาการเหนื่อย

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรแล้ว และมข.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การให้บริการด้านทันตกรรมที่ครอบคลุมต่อไป

ในจ.นครราชสีมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.นครราชสีมา ได้นำความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ ระบบควบคุมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์ใช้ ในการช่วยท้องถิ่นรับมือสถานการณ์โควิด-19

โดยผลิต 1.ห้องความดันลบสำหรับเตียง ผู้ป่วย และห้องเข้า-ออกสำหรับแพทย์และพยาบาล ซึ่งความดันภายในห้องจะต่ำกว่าความดันบรรยากาศ และมีระบบกรองอากาศป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก

2.ตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก มีระบบดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง HEPA filter เข้าสู่ภายในตู้คัดกรอง เพื่อให้ในตู้มีความดันมากกว่าความดันบรรยากาศและป้องกันบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในตู้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

ที่ผ่านมาได้ส่งมอบแก่ โรงพยาบาลหลายแห่ง ทั้งในจ.นครราชสีมากรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ

โครงการ “มดพิทักษ์ ช่วยวิกฤตโควิด-19” เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท Tripple A Engineering and Service

โดยการออกแบบหุ่นยนต์ “มดพิทักษ์” ให้มีความสามารถส่ง อาหาร และยา ให้ผู้ติดเชื้อ สามารถบรรจุของได้จำนวนมาก เนื่องจากมีชั้นวางของหลายชั้น รับน้ำหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม

การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์มีวงเลี้ยวแคบ สามารถเดินเข้าสถานที่แคบได้สะดวก ควบคุมด้วยรีโมตส่งคลื่นวิทยุ ควบคุมได้ง่ายด้วย คันโยกเพียงอันเดียว เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หมุนรอบตัว เพื่อใช้ในสถานที่มีเน็ตไม่เสถียรได้

เมื่อเจอสิ่งกีดขวาง จะหยุดเองโดยอัตโนมัติ มีกล้องถ่ายวิดีโอ ส่งด้วยคลื่นวิทยุ ส่งภาพหน้าหุ่นยนต์ สู่จอมอนิเตอร์ที่ติดตั้งบน เครื่องรีโมต เพื่อช่วยการมองเห็นของผู้ควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่น ในพื้นที่ที่มองไม่เห็น สามารถเพิ่มแท็บเล็ต เพื่อให้ติดต่อสนทนา สอบถามอาการผู้ป่วย กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ส่งมอบ “มดพิทักษ์” ให้กับโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี แล้ว

นายธีภัฒน์ เงินแท่ง ครูประจำสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัย การอาชีพบางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบ คีรีขันธ์ พร้อมทีมงาน และนักศึกษา ร่วมมอบ “ประตูคัดกรองคนไข้อัตโนมัติ” ให้กับโรงพยาบาลบางสะพานน้อย

อุปกรณ์ประเภทนี้ได้นำ มาสอนนักศึกษาอยู่แล้ว นายธีภัฒน์ จึงต่อยอดสร้างอุปกรณ์เกี่ยวกับการวัดไข้ช่วยเหลือชุมชน โดยใช้เงินผลิตไม่รวมค่าแรงประมาณ 35,000 บาท

ประกอบด้วย โครงสร้างตู้เป็นเหล็กชนิดเบาสูงประมาณ 220 ซ.ม. ภายในตู้มีไฟแสดงสถานะอุณหภูมิปกติ-ไม่ปกติ เซ็นเซอร์การทำงานเพื่อวัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ จอแสดงผลอุณหภูมิ ผู้ใช้งานประตูคัดกรอง

เมื่อเดินผ่านประตูนี้ หากอุณหภูมิของผู้ใช้ปกติ ประตูจะเปิด หากอุณหภูมิเกินมาตรฐานประตูจะไม่เปิด

เป็นการคัดกรองโควิด-19 ผู้มารับบริการได้อย่างดี

จักรพันธ์ นาทันริ, เกษม ชนาธินาถ
ขวัญเพชร โชคบรรดาลสุข
เจริญ อาจประดิษฐ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน