หนูทดลอง – การแสดงปฏิกิริยาและความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่มั่นใจและกังวล กับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 คือกลัวเป็นหนูทดลอง

โดยเฉพาะเมื่อมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสลับชนิด ระหว่างเข็มแรกและเข็มสอง ว่ายังมีข้อมูลวิจัยน้อยเกินไปที่จะประเมินผลข้างเคียง

แม้ต่อมาหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกจะระบุชัดขึ้นว่า เป็นคำเตือนถึงประชาชนทั่วไปไม่ควรตัดสินใจเอง แต่ให้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐตัดสินบน พื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่

กรณีของไทย หน่วยงานที่ตัดสินใจคือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีนผสมสูตรหรือสลับชนิดดังกล่าว

เมื่อมติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงหมายความว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนซิโนแวคของจีนเป็นเข็มที่ 1 แล้วจึงฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษ เป็นเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของรัฐบาลยืนยันว่า ศึกษาเรื่องนี้และประเมินถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและ ผลข้างเคียงแล้ว

แต่ในการปฏิบัติจริง ประชาชนยังสับสนและ ไม่มั่นใจ เช่น กรณีที่จังหวัดนนทบุรี ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นไม่เต็มใจที่จะฉีดวัคซีนซิโนแวคตั้งแต่เป็นเข็มแรก

ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะเป็น หนูทดลอง

ก่ อนหน้ากรณีของไทย คณะกรรมการด้านการฉีดวัคซีนของเยอรมนี มีคำแนะนำให้ ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ฉีดวัคซีนเข็มที่สองเป็นชนิด mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เพราะพบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มอย่างเห็นได้ชัด

นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนีเองใช้วิธีสลับชนิดวัคซีนเดียวกันนี้มาแล้ว นอกเหนือจากกลุ่มตัวอย่างที่เยอรมนีใช้วิจัยจนได้ผลสรุป

แต่กรณีของไทยไม่อาจทำแบบเยอรมนีได้ เนื่องจากไทยมีวัคซีนให้เลือกเพียง 2 ชนิดจนเป็นสูตรผสมดังกล่าว

การไม่มีทางเลือกจึงเป็นที่มาของความไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะไม่เชื่อมั่นรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน