ค้าปลีกจี้รัฐกระจายวัคซีน สมาคมค้าปลีกจี้รัฐกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง เพิ่มมาตรการ-ขยายเวลาเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แนะเร่งฟื้นเศรษฐกิจผ่านโครงการรัฐยิ่งใช้ยิ่งได้-ช้อปดีมีคืน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มในช่วงล็อกดาวน์นั้น สมาคมมองว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

เพราะสิ่งที่สมาคมต้องการจากรัฐบาลคือการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อให้การล็อกดาวน์ครั้งนี้เจ็บแต่จบ และหากฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ก็จะสามารถเปิดประเทศได้

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอ 3 มาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.มาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจน ใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการให้ทั่วถึง สนับสนุนชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับธุรกิจในภาคค้าปลีกและบริการเพื่อนำไปตรวจเชิงรุกให้กับบุคลากรในบริษัทเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด

2.มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มมาตรการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ล็อกดาวน์ จาก 2 เดือน เป็น 6 เดือน พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยเงินกู้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าปลีก รายใหญ่เป็นผู้รับสินเชื่อซอฟต์โลนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี)

3.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ปรับกลไกโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้เหมือนกับ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” และเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายสินค้าต่ำกว่าทุน

ปลดล็อกขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบจากเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตกว่า 43 ใบ จาก 28 หน่วยงาน 3.4 ขยายเวลาโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับนักศึกษาจบใหม่ซึ่งจะ สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2564 ออกไปอีก 1 ปี 3.5 ทดลองใช้ระบบการจ้างงานประจำเป็นรายชั่วโมง เพื่อสอดคล้องกับช่วงฟื้นฟูธุรกิจและเกิดการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วประเทศ กว่า 100 บริษัท ครอบคลุมเอสเอ็มอีในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย คิดเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศหรือคิดเป็น 12% ของการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งมีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ที่ท้าทายนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน