พิกโตแกรมสัญลักษณ์ประเภทกีฬา – หนึ่งในไฮไลต์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดในพิธีเปิดของโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ผ่านมา คงจะหนีไม่พ้นการที่ฝ่ายจัดการแข่งขันนำพิกโตแกรม ในรูปแบบของ “ไลฟ์ แอ๊กชั่น” หรือคนแสดงจริงโดยคณะตลกเงียบของญี่ปุ่น “กาเบซ” ซึ่งมาทำท่าทางเพื่อสื่อถึงประเภทกีฬาต่างๆ ในโตเกียว เกมส์ ครั้งนี้

สำหรับ พิกโตแกรม หรือภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือในวงการกีฬา ถือเกิดขึ้น ครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 18 เมื่อปี 1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ

โดยพิกโตแกรมมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ญี่ปุ่นต้องการให้ผู้คนจากทั่วโลกซึ่งใช้ภาษาแตกต่างกัน มีสิ่งที่ทุกคนเข้าใจตรงกันแบบสากล จึงมอบหมายให้ มาซารุ คัตซูมิเอะ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และ โยชิโระ ยามาชิตะ กราฟิกดีไซเนอร์ ร่วมกันออกแบบพิกโตแกรม ขึ้นมา 20 ภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชนิดกีฬาต่างๆ รวมถึงอีก 39 ภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาในการสื่อสารทั่วไป เช่น โทรศัพท์, หมู่บ้านนักกีฬา, ห้องน้ำชาย และหญิง เป็นต้น

และพิกโตแกรมดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากสามารถ “ทำลายกำแพงด้านภาษา” ของผู้เข้าแข่งขันและผู้ชมจากทั่วโลก พร้อมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการออกแบบ และกราฟิกของโลกจนมีการนำพิกโตแกรมมาใช้ในโอลิมปิกทุกครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตาม ทีมออกแบบในแต่ละปี

ในโอกาสที่ญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นเจ้าภาพของโอลิมปิก เกมส์ อีกครั้ง แน่นอนว่าพวกเขาต้องการสานต่อความสำเร็จของพิกโตแกรม ที่ถือกำเนิดในแดน “อาทิตย์อุทัย” เมื่อปี 1964 ด้วยรูปโฉมใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยเปลี่ยนจากดีไซน์ที่แข็งกร้าวและหนักแน่น มาเป็นความมีมิติและมีชีวิตชีวา ภายใต้การออกแบบของ มาซาอากิ ฮิโรมูระ และทีมงาน จนได้มาเป็นพิกโตแกรม โฉมใหม่ซึ่งเป็นสีน้ำเงินเข้มจำนวน 50 ภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ 33 ประเภทกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ (บางกีฬามีมากกว่า 1 ภาพ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน