การกีฬาแห่งประเทศไทย – ผลงานของทัพนักกีฬาไทย เป็นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ควรค่าแก่คำว่า…“ฮีโร่” ของชาติ แม้จะไม่ได้โกยเหรียญรางวัลกลับมาเป็นกอบกำ ไม่ได้ชัยชนะจนชื่อเสียงก้องโลก แต่ในแง่ของสปิริต และความสามารถในการต่อกรกับคู่แข่งระดับโลกนั้น จัดได้ว่าเป็นความสำเร็จที่แฟนกีฬาทั้งหลายน่าจะรู้สึกได้ และหนึ่งใน เบื้องหลังความสำเร็จที่ปรากฏยังสายตาชาวโลกเหล่านี้คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย กกท. ถือเป็นองค์กรหรือฟันเฟืองสำคัญของการ ขับเคลื่อนความสำเร็จ

ตั้งแต่เริ่มภารกิจ “โตเกียวเกมส์ 2020” เมื่อราวๆ 4-5 ปีก่อน การกีฬาแห่งประเทศไทย คอยดูแล เอาใจใส่ และสนับสนุนนักกีฬามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการอำนวยสถานที่ฝึกซ้อม การส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน หรือเรื่องงบประมาณต่างๆ กระทั่งในช่วง 2 ปีหลัง ที่มีการระบาดของโควิด-19 สร้างวิกฤตไปทั้งประเทศ การกีฬาแห่งประเทศไทยก็ฟันฝ่าและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดีจนเห็นได้ชัด

อุปสรรคสำคัญในวิกฤตโควิด-19 ของนักกีฬาไทยคือไร้โปรแกรมการแข่งขัน และสถานที่ฝึกซ้อม ทำให้นักกีฬา โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ไม่สามารถพัฒนาความสามารถ หรือฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่นัก จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ การกีฬาฯ ที่จะทำอย่างไรให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมได้อย่างเต็ม รูปแบบถูกวิธี โดยที่ยังกักตัว แยกซ้อมกันอยู่

ความพยายามของการกีฬาฯ จึงได้ประสานงานกับสมาคมกีฬาต่างๆ เพื่อดูแลให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างปกติที่สุด ทั้งยังเค้นบุคลากรนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีไปดูแลประกบนักกีฬาถึงที่บ้าน หรือสถานที่กักตัว เพื่อช่วยเหลือเท่าที่จะสามารถทำได้

นอกจากนี้ “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวเรือใหญ่ของทุ่งหัวหมาก ก็ไม่ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นแค่บทบาทหรือหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ในฐานะผู้นำทางการกีฬาของประเทศ ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชม ดูแลความเป็นอยู่ของนักกีฬาด้วยตัวเองอย่างไม่ขาดระยะ

สําหรับส่วนของนักกีฬาที่ยังต้องรอควอลิฟาย หรือเดินทางไป เก็บแต้มโอลิมปิกเกมส์ ก็ยังเดินเรื่อง และสร้างเกราะป้องกันอย่างรัดกุมให้ ทั้งจัดหาอุปกรณ์ และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด

ทั้งการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย การแจกแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อ และที่สำคัญกับการเดินเรื่องขอ กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล โดยใช้พื้นที่ในอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เพื่อฉีดวัคซีน และอำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬา และบุคลากรทางกีฬา ไม่ต้องแออัดในโรงพยาบาล

ผลพวงจากโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทัพนักกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย เจออุปสรรคในครั้งนี้กับ “โอลิมปิก 2020” นั่นคือไม่สามารถยกทีมไปจัดตั้งไทย เฮาส์ ศูนย์สนับสนุนนักกีฬา ทั้งในเรื่องของโภชนา และวิทยาศาสตร์การกีฬา ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่างที่เคยทำในทุกมหกรรมการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม จากผลพวงของ “โควิด-19” ครั้งนี้ เชื่อได้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยคงได้อะไรหลายๆ อย่าง เพื่อพัฒนาวงการกีฬาไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับรายการนานาชาติมากพอ แม้โอลิมปิกเกมส์จะปิดฉากไปแล้ว แต่ภารกิจสำหรับการกีฬาฯ ยังไม่จบ

เพราะนักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง หลังจากเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น จะต้องต่อสู้กับโควิด-19 โดยจะต้องเดินทางไปกักตัวต่อที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก สระบุรี จากที่เคยเป็นศูนย์ฝึกต้องแปรสภาพกลายเป็นสปอร์ตควอรันทีนสถานที่กักตัวของนักกีฬา

และสุดท้ายกับภาระหน้าที่ของการกีฬา นั่นคือการติดตามและประเมินผลงานโดยรวมของนักกีฬาไทยต่อไปเพราะหลังจากนี้ยังมีอีกหลายต่อหลายมหกรรมกีฬารออยู่ ไม่ว่าจะเป็น ซีเกมส์, เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์, เอเชียนเกมส์ หรือแม้แต่ โอลิมปิกเกมส์ 2024 ในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่รอให้นักกีฬาไทยนำความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติอีกครั้ง

ทุกความสำเร็จของเหล่า “ฮีโร่” ล้วนมีเบื้องหลัง และล้วนมีผู้ส่งเสริมสนับสนุน

การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นผู้ปิดทองหลังพระ…ของเหล่านักกีฬาไทยอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน