อวดไอเดียคนรุ่นใหม่ ยกระดับเกษตรไทยสู่ดิจิทัล42 Bangkok สถาบัน Programming School สัญชาติฝรั่งเศส ภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

จัดกิจกรรม “Virtual Hackathon by 42 Bangkok X CPF” เพื่อเฟ้นหาโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ ที่สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ยกระดับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร สู่เกษตรทันสมัย พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัล

การแข่งขันจัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 24 ทีม ทีมละ 4 คน ด้วยรูปแบบ Virtual Hackathon ผู้แข่งขันแต่ละคนจึงเพิ่งมาทำความรู้จัก ทำงานและระดมสมองร่วมกัน ใช้เวลาเพียง 2 วัน ผลิต ผลงานภายใต้ 6 โจทย์ธุรกิจที่ซีพีเอฟกำหนดและสนับสนุนเงินรางวัลรวม 150,000 บาท

ผลการแข่งขัน ทีมป๊อปคอร์น ที่ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี คว้ารางวัลสูงสุด The Best Award จากโจทย์ “Excellent Farmer” ผู้ช่วยเกษตรกรอัจฉริยะ (เกษตรแม่นยำ) โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Corn-Lab” แนวคิด “ให้การปลูกข้าวโพดเป็นเรื่องสนุก ง่าย และ ได้คุณภาพ” รวมความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด

ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก แก้ปัญหาการเพาะปลูก และสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ปลูกข้าวโพด นำไปสู่การสร้างห้องเรียนผู้เชี่ยวชาญและแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศ มีการนำเทคโนโลยี Machine Learning (ML) และ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทย เป็น “เกษตรกรแม่นยำ” และเพิ่มผลผลิตให้ มากขึ้น

ธนพล แก่นจันทร์ หรือ ที อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในสมาชิก “ทีมป๊อปคอร์น” กล่าวว่า เวทีนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผมในการสั่งสมประสบการณ์และพัฒนาฝีมือของตัวเอง ได้เรียนรู้การทำงานที่เกิดจากความร่วมมือกันเป็นทีม การใช้ทักษะของคนในทีมเต็มศักยภาพ การพัฒนาแอพฯ และยังเรียนรู้เรื่องธุรกิจ การเก็บข้อมูล และฝึกวิธีคิดโปรเจกต์ด้วย

ด้าน คงคุณาณัฏฐ พิทักษ์นราเลิศ หรือ อ้น อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาชิกอีกคนหนึ่งในทีมป๊อปคอร์น กล่าวว่ากิจกรรมในรูปแบบ Virtual Hackathon ทำให้ทุกคนรู้ศักยภาพของตนเองว่าทำอะไรได้บ้างในเวลาที่ถูกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่ทุกคนอยู่กันคนละที่ การสื่อสารที่ดีเพื่อให้สมาชิกในทีมเข้าใจตรงกันสำคัญมาก การเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงทำให้ได้เรียนรู้การสร้างทีมเวิร์กที่มีประสิทธิภาพ

อ้นเผยด้วยว่าตั้งใจจะต่อยอดแอพพลิเคชั่น “Corn-Lab” ให้นำไปสู่การใช้จริง เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี ยกระดับภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอาหารของไทยตามโจทย์ที่ตั้งไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน