เร่งศึกษาเจาะบ่อบาดาลลึก1ก.ม.“น้ำบาดาล” ถือเป็นแหล่งน้ำสำรอง ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน มีการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง รองรับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ และสังคม

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เผยถึงภาพรวมของสถานการณ์น้ำบาดาลในประเทศไทยว่า จากการประเมินศักยภาพน้ำบาดาล พบว่าปริมาณน้ำบาดาลในไทยมีกักเก็บอยู่ใต้ดินมากถึง 1.13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นำมาใช้ได้ 45,385 ล้านลบ.ม./ต่อปี และในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลทุกปีประมาณ 72,987 ล้านลบ.ม./ต่อปี หรือประมาณ 10% ของปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย

ขณะที่ปัจจุบันมีการนำน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม 14,741 ล้านลบ.ม./ต่อปี ทำให้เหลือปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดินและสามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีกถึง 30,645 ล้านลบ.ม./ต่อปี คาดว่าปริมาณน้ำบาดาลที่ประเมินไว้จะสามารถนำขึ้นมาใช้รองรับความต้องการใช้น้ำด้านอุปโภคบริโภค เศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม และในภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตได้

นายศักดิ์ดาเผยอีกว่า ขณะที่ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี ประกอบกับพื้นที่บริเวณกลางแอ่งรองรับด้วยชั้นเกลือหินใต้ดิน ส่งผลให้ชั้นน้ำบาดาลมีคุณภาพน้ำกร่อย-เค็มในบางพื้นที่

นอกจากนี้ น้ำบาดาลยังกักเก็บในรอยแตกหรือรอยต่อของชั้นหินแข็งระดับลึก ภายใต้โครงสร้างทางธรณีที่ซับซ้อน ส่งผลให้การเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีทางการเกษตรหรือแบคทีเรียได้ง่าย และ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขาดโอกาสการใช้น้ำที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ขาดความมั่นคงด้านน้ำ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ด้วยความห่วงใยปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายให้กรมฯ น้ำบาดาล ภายใต้การกำกับดูแลของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้กับประชาชน ตามแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ (ปีพ.ศ.2561-2580) เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้ประชาชน ไม่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประเมิน ความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร

กรมฯ น้ำบาดาลจึงรับข้อสั่งการและเร่งดำเนินการ “โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ (แอ่งนครราชสีมา-อุบลราชธานี แอ่งอุดรธานี-สกลนคร และแอ่งเลย)” เพื่อศึกษาสภาพธรณีวิทยา ธรณีโครงสร้าง อุทกธรณีวิทยาทั้งปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล และคุณสมบัติทางชลศาสตร์น้ำบาดาลใหม่ ของชั้นน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายศักดิ์ดาระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจาะสำรวจน้ำบาดาลที่บ้านหินขาว หมู่ 15 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเจาะได้แล้วกว่า 702 เมตร พบชั้นน้ำบาดาลใหม่ๆ หลายชั้นที่ระดับความลึกตั้งแต่ 180 เมตรลงไป โดยมีเป้าหมายเจาะสำรวจให้ได้ความลึก 1,000 เมตร เพื่อประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลในระดับลึกในพื้นที่ที่เดิมมีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ พื้นที่น้ำเค็ม และพื้นที่หาน้ำยากของประเทศ เพื่อ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึกของประเทศไทยด้วย

“หากโครงการดำเนินแล้วเสร็จจะพัฒนาน้ำบาดาลมากกว่า 50 ลบ.ม./ชั่วโมง ประชาชน 5,000-7,000 คนจะได้รับประโยชน์ โดยพร้อมขยายผลไปยัง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ เป็นต้น” อธิบดีกรมฯ น้ำบาดาลระบุถึงเป้าหมาย

นนทวรรณ มนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน