“การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

วัตถุมงคลหลวงพ่อทอง วัดเขา ตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มีการจัดสร้างมากมายหลายประเภท ซึ่งล้วนเป็นที่นิยม โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นที่สร้างในปี พ.ศ.2465” ซึ่งเป็น “เหรียญหล่อสี่เหลี่ยมปรกโพธิ์ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา” สร้างสมัยพระอธิการห้อย ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2465

สร้างเป็นเนื้อทองเหลือง หูเชื่อม ยกขอบทั้งหน้าและหลัง ด้านหน้าเหรียญจำลองหลวงพ่อทอง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะบัวสองชั้นมีพื้นฐานเขียงรองรับอีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเหรียญมีอักขระขอม 3 บรรทัด อ่านว่า “อิ สวา สุ มิ โน เชย ยะ” เหรียญหล่อสี่เหลี่ยม ปรกโพธิ์ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ปัจจุบันเป็นเหรียญที่หายาก สนนราคาสูง

“พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า “พระปิดตาพุงป่อง” เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลยอดนิยม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2460-2463 ที่ระลึกงานฌาปนกิจมารดาเมื่อปี พ.ศ.2463 เท่าที่พบเป็นเนื้อผงคลุกรัก สืบต่อกันมา หลวงปู่ศุขใช้ส่วนผสมสำคัญหลายอย่าง เช่น ผงพุทธคุณ เกสรดอกไม้ร้อยแปด ผงวิเศษจากการเขียนอักขระเลขยันต์ต่างๆ ดินโป่ง ต่างๆ ที่พลีเอามาจากดงดิบ และวัสดุอาถรรพ์อีกมากมาย นำมาคลุกเคล้าโดยใช้น้ำรักเป็นตัวประสาน การบดส่วนผสมต่างๆ สีขององค์พระจะออกเป็นสีน้ำตาลไหม้จนถึงดำ

องค์พระปิดตามีขนาดกว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.6 เซนติเมตร ลักษณะการแกะพิมพ์สันนิษฐานว่าเป็นช่างท้องถิ่น จึงไม่มีความประณีตคมชัด ดังเช่นช่างหลวง องค์พระขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ยกปิด พระพักตร์เพียงคู่เดียว พระเศียรเห็นเป็นเส้นนูน พระพาหามีกล้ามตรงส่วนบน พระชานุเป็นปมใหญ่แล้วขมวดเรียวเล็กลง พระอุทรนูนใหญ่อันเป็นที่มาของชื่อ นอกจากนี้ ยังมีเส้นกรอบโดยรอบวาดเว้าตามสัดส่วนขององค์พระ ส่วนด้านหลังจะเป็นรอยกดพิมพ์ ปัจจุบันเป็นที่เสาะหา

“ครูบาวัง พรหมเสโณ” วัดบ้านเด่น อ.เมือง จ.ตาก พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในห้วงที่ท่านยังมีชีวิต ได้จัดสร้าง เหรียญ ครูบาวังรุ่นแรก สร้างในปีพ.ศ.2506 ลักษณะเหรียญปั๊มกลมไม่มีหู มีด้วยกัน 4 เนื้อ คือ เนื้อผิวเปียกทอง, กะไหล่ทอง, กะไหล่เงิน และทองแดงผิวไฟ

ด้านหน้าเหรียญ ขอบเป็นจุดไข่ปลาล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครูบาวังครึ่งองค์หันหน้าตรง มีอักขระล้านนา (ตั๋วเมือง) ว่า “เตนะ ศัตรู อุ่งนะยะ ปารามะ สวาหุม อมจิต คนทั้งหลาย จิตติจิตตั๋ง อาคัจฉาหิปิ” และ “ยังมะมะ นะมะพะทะ” ด้านหลังเหรียญ เขียนชื่อ “หลวงพ่อครูบาวัง ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๖ วัดบ้านเด่น จังหวัดตาก” เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยม

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน