‘PETE เปลปกป้อง’ เพิ่มความหวัง‘ด่านหน้า’-รามาฯสู้โควิด – สถานการณ์โควิดเมืองไทยพีกแล้วหรือยังไปต่อ พอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ไหม เพราะถึงฉีดวัคซีนครบก็ยังติดได้

ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ทุกคนต้องปกป้องตัวเองอย่างเต็มที่ และช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์เป็น ‘ด่านหน้า’ ปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตผู้ป่วยวินาทีต่อวินาที ระบบสาธารณสุขและอุปกรณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์อย่าง ‘PETE เปลปกป้อง’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

“หากมีโฮม ไอโซเลชั่น หรือการรักษาตัวที่บ้านมาช่วย จะทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งไม่ล้นเตียงเพราะว่าคนไข้สีเขียวจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน” คือประโยคจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เห็นว่า โฮม ไอโซเลชั่น กุญแจสำคัญหนึ่งของระบบสาธารณสุข และเมื่อทำควบคู่กับการขยายคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น หรือศูนย์แยกกักตัวในชุมชน จะช่วยลดการเสียชีวิต ลดการแพร่ระบาดในชุมชน และสามารถนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหากอาการหนัก ทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย

รศ.นพ.สุรศักดิ์บอกว่า ขณะนี้โรงพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ ยังรับดูแลคนไข้โฮม ไอโซเลชั่น คนไข้ในฮอสพิเทล ทั้งยังร่วมกับชุมชนทุ่งพญาไทกว่า 20 ชุมชน ดูแลศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเจ้าพระยา และมีศูนย์พักคอยสำหรับผู้พิการทางสายตาที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมๆ แล้วดูแลคนไข้วันละประมาณ 1,200 คน แม้จะหลักพัน แต่ก็ถือว่าลดลงจากช่วงกลางเดือนสิงหาคม ที่ดูแลคนไข้เฉลี่ยวันละประมาณ 1,500 คน

“โฮม ไอโซเลชั่นของเรา มีแพลตฟอร์มออนไลน์ kin-yoo-dee.com/wesafe-home ให้คนไข้สีเขียวเข้าไปกรอกข้อมูล เมื่อเข้าระบบแล้วเราจะส่งยาและอาหาร 3 มื้อ ให้ถึงบ้าน ช่วยลดปัญหาเตียงไม่พอ อย่างฮอสพิเทลที่เรามี ตอนนี้เป็นคนไข้สีเหลือง 60-70% แล้ว จากเมื่อ 3-4 เดือนก่อน มีคนไข้กลุ่มนี้ 20-30% เพราะมีคนไข้สีเขียวมาอยู่ด้วยดังนั้นหากคนไข้สีเหลืองมีอาการมากขึ้น เราก็จะมอนิเตอร์ได้ ทันช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ได้” ผอ.ร.พ. รามาธิบดีบอก

แม้จะลดปัญหาเตียงเต็มไปได้บ้าง แต่อีกสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญคือการขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็นในการป้องกันเชื้อโควิด หนึ่งในนั้นคือ ‘เปลความดันลบ’ ที่ช่วยให้ด่านหน้าปฏิบัติงานอย่างมั่นใจมากขึ้น

สำหรับ ‘PETE เปลปกป้อง’ คือเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ นวัตกรรมฝีมือคนไทยที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีบทบาทอย่างมากช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด เพราะมีระบบกรองอากาศป้องกันเชื้อเล็ดลอด และฆ่าเชื้อด้วยยูวี-ซี ก่อนปล่อยอากาศออกมา ทำให้ด่านหน้าและคนที่อยู่ตามเส้นทางเคลื่อนย้ายผู้ป่วยปลอดภัย เคลื่อนย้ายสะดวก สามารถนำเข้าเครื่องซีทีสแกนได้เลยโดยไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล หลังใช้งานทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ให้แห้ง 5 นาที ก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้

เมื่อ ‘PETE เปลปกป้อง’ ช่วยคุ้มกันด่านหน้าและช่วยชีวิตผู้ป่วย ได้จริง ในมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งใหญ่แห่งปี ‘Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย’ #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน จัดโดยเครือมติชนร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ เมื่อวันที่ 18-22 สิงหาคมที่ผ่านมา เครือมติชนและบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ก็ได้สนับสนุนการมอบ ‘PETE เปลปกป้อง’ 10 ตัว มูลค่ารวม 2.5 ล้านบาทให้โรงพยาบาล 5 แห่ง แห่งละ 2 ตัว

ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร.พ.จุฬาภรณ์ ร.พ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร BEM ได้มอบ ‘PETE เปลปกป้อง’ แก่คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมและจะทยอยส่งมอบร.พ.ต่างๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ต่อไป

PETE01 – น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน พร้อมด้วยผู้บริหาร บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ นำนวัตกรรม ‘PETE เปลปกป้อง’ 2 ตัว มอบแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ ร.พ.รามาธิบดี เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์ฯ

“เดิมเรามีอยู่ 3 ตัว ได้รับเพิ่มอีก 2 ตัว ก็จะช่วยให้โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยโควิดต้องเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการติด เชื้อของทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ต้องขอบคุณเครือมติชนและ BEM ที่มี ส่วนร่วมช่วยชีวิตผู้ป่วยและปกป้องคนด่านหน้า ผ่านการสนับสนุน PETE เปลปกป้อง” รศ. นพ.สุรศักดิ์กล่าว

ด้าน ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม MTEC เผยถึงประสิทธิภาพของ ‘PETE เปลปกป้อง’ ว่า นับจากเริ่มต้นโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ถึงวันนี้ปรับปรุงและพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นที่ 8 แล้ว สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจากบ้านไปโรงพยาบาล หรือไปยังห้องรักษา

จุดเด่นของเปลนี้ รับน้ำหนักได้ถึง 250 กิโลกรัม และมีขนาดที่เหมาะกับรูปร่างคนไทย น้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้ 3 ปีผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าและประสิทธิภาพเป็นที่เรียบร้อย ส่งมอบใช้จริงในภารกิจต่างๆ ไปแล้วราว 20 ตัวทั่วประเทศและเตรียมผลิตให้ถึง 100 ตัว ภายในสิ้นปีนี้

ข้อดีของการพัฒนาในประเทศ คือตอบโจทย์ผู้ใช้งานคนไทย ได้จริงๆ ใช้วัสดุที่หาได้ในไทย ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไส้กรองหรือ แบตเตอรี่ได้เอง นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ที่ประมาณ 250,000 บาท ขณะที่เปลนำเข้ามีราคาตัวละ 600,000-700,000 บาท ซึ่งความตั้งใจต่อไปของ ดร.ศราวุธ คือทำให้เปลมีต้นทุนต่ำกว่าเดิม อยู่ที่ระดับแสนกว่าบาทหรือถูกกว่านั้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ความต้องการ PETE เปลปกป้อง ยังเยอะมากๆ และยังมีความสำคัญไม่ใช่แค่โควิดโรคเดียว ยังมีโรคทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่ง 2 โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อกันมานานแล้ว และใน 1 ปี มีรถพยาบาลใหม่ๆ 2,000 กว่าคัน จะดีมากถ้ามีอุปกรณ์ตัวนี้ทุกคัน เพราะจะช่วยป้องกันและเซฟบุคลากรได้ตั้งแต่ต้น” ดร.ศราวุธ บอก

กล่าวได้ว่า ‘PETE เปลปกป้อง’ ไม่ได้เป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วเท่านั้นหาก 1 เปล 1 รถพยาบาลเกิดขึ้นได้จริง จะแสดงถึงขีดความสามารถในการรักษาและดูแล ทุกชีวิตได้อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในอนาคต

เรื่อง : เบญจพร ถูระวรรณ์
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน