‘เหรียญเสมาหลวงพ่อชุ่ม’วัตถุมงคลหายากเมืองราชบุรีสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพัฒน์‘เหรียญรุ่นยิ้มทวีทรัพย์’ – “ในเมื่อท่านได้ศรัทธาพละ ท่านอยากปฏิบัติ ท่านก็ได้ความเพียร ในเมื่อท่านได้ความเพียรท่านก็มีความตั้งใจ คือสติ เมื่อมีสติ ก็มีความมั่นใจคือสมาธิ” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อชุ่ม จันทโชติ” เจ้าอาวาสรูปแรกวัดอุทุมพรทาราม หรือ วัดท่ามะเดื่อ ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิที่มีพุทธาคมเข้มขลัง เหรียญเสมาได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2463 สร้างประมาณปี พ.ศ.2469 เท่าที่พบมีจำนวนน้อยมาก สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว ว่ากันว่า หลวงพ่อดี จันทโชติ วัดบ้านยาง จ.ราชบุรี สร้างให้เป็นที่ระลึกในงานศพหลวงพ่อชุ่ม

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อชุ่มนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ประทับนั่งบนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ท่านพระอธิการชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ” ด้านหลัง มีอักขระยันต์ต่างๆ จัดเป็นเหรียญหายากของวงการพระเครื่องราชบุรี

เดือน ต.ค.2563 คณะศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธา “จ่าเต๋า สายสี่” ขออนุญาต “หลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม” พระเกจิดังแห่งวัดห้วยด้วน (ธารทหาร) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ จัดสร้างวัตถุมงคล เป็นเหรียญหลวงพ่อพัฒน์ รุ่นยิ้มทวีทรัพย์ วัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้สมทบสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม จัดสร้างเป็นหลายเนื้อด้วยกัน

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปทรงไข่ หูเชื่อม ด้านหน้า ขอบเหรียญมีเส้นสันนูนหนา ใต้หูเชื่อมสลักคำว่า ยิ้มทวีทรัพย์ ตรงกลางมีรูปเหมือนหลวงพ่อพัฒน์หน้าตรงครึ่งองค์ในลักษณะยิ้ม ด้านล่างสุดสลักตัวหนังสือคำว่า หลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม ๙๙ มีดอกจันคั่นกึ่งกลาง ด้านหลังเหรียญ รอบขอบเหรียญส่วนในสลักอักขระโดยรอบ ใต้หูเชื่อมสลักยันต์ประจำตัวหลวงพ่อพัฒน์ ถัดลงมาสลักตัวหนังสือคำว่า รวย และมีรูปเหมือนไก่ 2 ตัวหันหน้าหากัน ถัดลงมาสลักเลขไทย ๙๙ สอบถามโทร.09-1405-9990, 09-8115-8869

“หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย” อดีตประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์พระป่า เหรียญมีหลายรุ่น มีชื่อเสียงโด่งดังแทบทุกรุ่น แต่ที่ได้รับความนิยมคือ รุ่น “เสือ-วัว” สร้างเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2521 เสือหมายถึงท่านเกิดปีขาล และวัว หมายถึงปีสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อเงิน, เนื้อทองแดง บล็อกนวะ 4 เส้น, เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง, เนื้อนวโลหะ, เนื้อทองแดง พิมพ์ใหญ่ มีจำนวน 3,000 เหรียญ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสมชายครึ่งองค์ หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย” ด้านหลังเหรียญ ด้านบนเขียนคำว่า “วัดเขาสุกิม” ถัดลงมาเป็นยันต์อุณาโลม ต่อด้วยรูปเสือหมอบด้านซ้าย ขวาเป็นวัวหมอบ หันหน้าเข้าหากัน มีอักษร “เมตตา” ล่างสุดมีตัวเลขไทย “๑๕-๗-๒๑” คือวันที่จัดสร้าง เหรียญรุ่นนี้หลวงพ่อสมชายประกอบพิธีปลุกเสกด้วยตัวเอง

หลวงปู่สร้อย จิตตทันโต อดีตเจ้าอาวาสวัดทรงศิลา ต.สันป่าตอง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม หลังจากมรณภาพครบรอบ 30 ปี ในปีพ.ศ.2515 คณwะศิษยานุศิษย์ นำโดย พระศรีวชิรโมลี จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนในวันมาฆบูชา เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและนำรายได้จากการเช่าบูชาไปพัฒนาเสนาสนะ

ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหู ด้านหน้าเหรียญใต้ห่วงเป็นอักขระ เขียนว่า “นะโมตัสสะ’ จากด้านขวาของเหรียญโค้งลงไปด้านล่างวนขึ้นไปทางด้านซ้ายเขียนว่า “พระอุปัชฌาย์สร้อย จิตฺตทันโต” บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่สร้อยครึ่งองค์ ด้านหลังเหรียญยกขอบ ใต้ห่วงเขียนว่า “วัดทรงศิลา จ.มหาสารคาม” ตรงกลางเหรียญเป็นรูปพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ ด้านล่างแถวแรกเขียนว่า “๒๕๑๕” เป็นปีพ.ศ.ที่จัดสร้าง และแถวที่สองมีตัวหนังสือเขียนว่า “มาฆบูชา” เป็นเหรียญดี ค่อนข้างจะหายาก

พระวิเชียรโมลี หรือ หลวงพ่อปลั่ง พรหมโชโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณ ที่ชาวเมืองกำแพงเพชรให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ท่านจัดสร้างเครื่องรางวัตถุมงคลมากมาย แต่ได้รับความนิยมจากบรรดาเซียนพระและนักสะสม พระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง คือ “เหรียญพระวิเชียรโมลี รุ่นนิยม ปี 2484” จัดสร้างขึ้นในโอกาสที่ชาวกำแพงเพชรจัดงานฉลองสมณศักดิ์ให้หลวงพ่อปลั่ง ที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปคล้ายใบโพธิ์หกเหลี่ยม มีหูห่วง ไม่ได้ระบุจำนวนการสร้าง ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบ 2 ชั้น ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงพ่อปลั่ง หันหน้าตรงครึ่งองค์ บริเวณรอบรูปเหมือนหลวงพ่อปลั่งเป็นอักขระขอม ขอบโค้งด้านล่างจากซ้ายไปขวาเขียนคำว่า “จังหวัดกำแพงเพ็ช ฉลองสมณะศักดิ์ เปนพระวิเชียรโมลี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นพระพุทธรูป มีอักขระยันต์ด้านซ้ายและด้านขวา ใต้ฐานพระพุทธรูปเขียนคำว่า “๑ มีนาคม ๒๔๘๔” ปัจจุบันเป็นเหรียญที่หายาก

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน