ผ้าไทยแดนใต้ ‘บาติก’สู่สากล – สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากลหรือ “บาติก ซิตี้” (Batik City) มอบโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลรวม 160,000 บาท

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในการประกาศผลผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากล “Batik City” ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โจทย์การนำผ้าบาติกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ซึ่งเป็นเมืองแห่ง บาติก มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบและตัดเย็บ

มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดมากถึง 319 ราย ก่อนคัดเลือกผลงานที่ โดดเด่นจนได้ผู้ชนะในรอบสุดท้ายจำนวน 5 ราย โดยมี ดร.วิมลลักษณ์ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวรายงาน

นายอิทธิพลกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 5 ราย พร้อมขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นที่ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ ศิริชัย ทหรานนท์ อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ พิสิฐ จงนรังสิน และ เอก ทองประเสริฐ โดยหวังว่าผลงานของผู้เข้าประกวดทุกคนจะจุดประกายให้เกิดการใช้ผ้าไทยจากชายแดนใต้ที่สวยงามในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมชาติต่อไป

รางวัลชนะเลิศคว้าโล่รางวัลเกียรติยศ เงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ นายณัฏฐ์ทร อธิษฐ์จรุงชัย ภายใต้แนวคิด “Sunset Nostalgia” ผ่านการนำลายผ้าจากสงขลาบาติก แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเงา พระอาทิตย์อัสดงยามเย็นบนทะเล ผสานกับโครงสร้างของเสื้อ ได้แรงบันดาลใจจาก Street Style แนว Cultural Twist ที่นำมาผนวกกับโครงเสื้อของขุนนางชั้นสูงญี่ปุ่นโบราณ และคุมภาพรวมให้ออกมาอยู่ในโทน Resort Collection

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายภาณุพงษ์ คำดี ที่นำลายผ้าจากบาติกเดอรารา, ซาโลมาปาเต๊ะ และมีดีที่นาทับ มาสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “MORE IN MORE” โดยนำความประทับใจจากวันฮารีรายอมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายฬียฑา ชลิตณัฐกุล ซึ่งนำผ้าจากผู้ประกอบการเก๋บาติกมาออกแบบภายใต้ แนวคิด“ความสวยงามของคนตาบอด” จากความทรงจำหรือจินตนาการที่แปลงเป็นภาพในความคิดได้ต่างๆ นานา

นอกจากนี้ยังมอบรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ให้แก่ น.ส.นภสร พานิชพัฒน์ ที่นำลายผ้ามาจาก รายาบาติก, เก๋ บาติก และอาดือนันบาติก มาผสมผสานภายใต้แนวคิด “Ocean Currents” และ นายวรนนท์ วงษ์กิติโสภณ ที่นำลายผ้าจากอาดือนันบาติก มาสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “Birth of Southern Thailand”

สนใจเข้าชมแฟชั่นวิดีโอผลงานจาก 15 ดีไซเนอร์ที่ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ทาง www.ocac.go.th หรือยูทูบ และเฟซบุ๊ก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน