หนุนภัยคุกคามเพศ สู่วาระแห่งชาติ – กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์เรื่อง “ภัยคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ” ผ่านระบบ zoom Meeting โดยมี นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ นาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมเสวนา

นายจะเด็จกล่าวถึงกรณีข่าวไรเดอร์ส่งอาหารโพสต์ผ่านโซเซี่ยลมีเดียมีใจความคุกคามลูกค้าที่ไม่ใส่เสื้อชั้นในออกมารับอาหารว่า กรณีการคุกคามทางเพศเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยการมีทัศนคติสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกว่าการพูดแซวเล่นสามารถทำได้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการแซว ผิวปากใส่ ก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ขณะนี้ยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้กฎหมายและยังไม่กล้าไปแจ้งความ จากสถิติปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มที่ถูกคุกคามทางเพศอายุระหว่าง 17-24 ปี คนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ พวกเขารู้จักสิทธิของตนเอง รู้ว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้

นายจะเด็จกล่าวต่อว่าในระบบราชการ ระบบแรงงาน มีกฎระเบียบที่มีข้อห้ามเรื่องการคุกคามทางเพศ บางบริษัทมีการอบรมพนักงานให้รู้จักระมัดระวังการคุกคามทางเพศ แต่ยังไม่มีกฎหมายการคุกคามทางเพศโดยตรง ขณะนี้เราใช้ได้เพียงกฎหมายอนาจาร พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรออกเป็นกฎหมายที่มีข้อกำหนดชัดเจน ถ้ามีเครื่องมือทางกฎหมายสถานการณ์อาจจะดีขึ้น

“เราอาจต้องต่อสู้กับทัศนคติสังคมชายเป็นใหญ่ไปอีกสักพัก เมื่อคนรุ่นใหม่ที่ทราบสิทธิของตนเองมีความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นสถานการณ์อาจจะดีขึ้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าว

ขณะที่นาดาเล่าถึงกรณีลูกจ้างร้านค้าในห้างสรรพสินค้าถูกนายจ้างคุกคามทางเพศว่า เมื่อลูกจ้างคนนี้ถูกคุกคามเขาไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร แต่คิดว่าไม่อยากให้มีใครโดนแบบเขาอีก จึงนำเรื่องมาปรึกษาเราเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เราต้องทำให้เรื่องการคุกคามทางเพศเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนพูดถึงได้ ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน การโดนคุกคามคือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องที่รอได้

ด้านลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างล่วงละเมิดเผยถึงการตัดสินใจออกมาดำเนินคดีทางกฎหมายว่า อยากเป็นจุดเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นการตัดสินใจที่ยากมากกว่าจะลุกขึ้นมาดำเนินคดีได้ เพราะตนเองเกิดความกลัว แต่สุดท้ายแล้วคิดว่าอยากสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมว่าเราทุกคนมีสิทธิปกป้องตัวเอง

นางจินตนากล่าวว่ามีมาตรการต่างๆ ที่กำหนดในภาครัฐซึ่งเราสามารถนำไปใช้กับองค์กรต่างๆ ได้ ตนเห็นด้วยกับการให้ความรู้ในองค์กร มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และควรมีข้อจัดการทางธุรกิจ เช่น การไม่สนับสนุนสินค้า เพื่อไม่ส่งเสริมบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการคุกคามทางเพศ ควรมีมาตรการทั้งทางลบและทางบวก ขณะนี้มีแผนเสนอ ครม. ให้ประเด็นการล่วงละเมิดและการข่มขืนเป็นวาระแห่งชาติ ทางเราขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หากผู้ใดถูกคุกคามทางเพศสามารถ แจ้งมาที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน