ผู้นำตาลิบัน

สนใจเรื่อง ตาลิบัน ผู้นำเป็นใคร เขาเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยไหม จะมีเลือกตั้งไหม

น็อง

ตอบ น็อง

กลุ่มติดอาวุธตาลีบันที่เข้ายึดครองอัฟกานิสถาน และประกาศเรียกชื่อประเทศว่า “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน” (Islamic Emirate of Afghanistan) มี “เฮเบอทุลลา อาคุนดซาด” เป็นผู้นำสูงสุด โดยขึ้นเป็น ผู้นำสูงสุดคนที่ 3 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.2016 หลัง อักห์ตาร์ มันซูร์ ผู้นำกลุ่มคนก่อนหน้านี้ ถูกสังหารโดย กองกำลังสหรัฐ ในเวลานั้นมันซูร์ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม ได้เกือบหนึ่งปี

ในช่วงทศวรรษ 1980 อาคุนดซาดร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มอิสลามที่ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ดี เขามีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำทางศาสนามากกว่าทางทหาร ก่อนที่ในช่วงทศวรรษ 1990 เขาทำหน้าที่หัวหน้าศาลชารีอะห์ซึ่งว่าด้วยกฎหมายอิสลาม

กลุ่มตาลิบันริเริ่มให้ใช้กฎหมายนี้โดยตีความอย่างเคร่งครัด หลังจากเข้ายึดอำนาจเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 มีการประหารชีวิตในที่สาธารณะ ผู้ถูกตัดสิน ว่ากระทำความผิดฐานฆ่าคนตายหรือนอกใจคู่ครอง ทั้งการตัดแขนตัดขาผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐาน ลักขโมย








Advertisement

ในระหว่างที่ตาลิบันอยู่ภายใต้การนำของมุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ผู้เก็บตัวเงียบ และคาดว่าเสียชีวิต ในปี 2013 กลุ่มตาลิบันยังได้ออกกฎห้ามดูทีวีและภาพยนตร์ ห้ามฟังเพลง ห้ามแต่งหน้า และไม่อนุญาตให้เด็กผู้หญิง ที่อายุ 10 ขวบและอายุมากกว่านั้น ไปโรงเรียน

อาคุนดซาดผู้นำคนล่าสุด มีอายุ 60 ปีเศษ และใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่ในอัฟกานิสถาน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ เควตตา ชูรา (Quetta Shura) กลุ่มผู้นำตาลิบันที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ที่เมืองเควตตาของปากีสถาน ทั้งนี้ในฐานะผู้นำสูงสุดของตาลิบัน อาคุนดซาด ควบคุมทั้งด้านการเมือง การทหาร และศาสนา

สำหรับรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดใหม่ “โมฮัมหมัด ฮัสซัน อักฮุนด์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีในยุคที่กลุ่มตาลิบันปกครองอัฟกานิสถานช่วงปี 1996-2001 จะนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี รักษาการ เขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านศาสนามากกว่าเรื่องการทหารของกลุ่ม การแต่งตั้งเขาถูกมองว่าเป็นการประนีประนอมหลังจากมีรายงานความ ขัดแย้งระหว่างสมาชิกที่มีแนวคิดสายกลางกับแนวคิด สุดโต่ง ทั้งนี้โฆษกตาลิบันระบุว่า มีสมาชิกร่วมอยู่ในรัฐบาล ทั้งสิ้น 33 คน

เกี่ยวกับการเลือกตั้ง นักวิชาการรัฐศาสตร์ จรัญ มะลูลีม วิเคราะห์ว่า ผู้นำตาลิบันไม่เห็นด้วยกับการ เข้าสู่อำนาจผ่านหีบเลือกตั้ง พวกเขากล่าวว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นห่างไกลจากความเชื่อของอิสลาม และความคิดของการมีรัฐที่มีผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ปกครอง (Emirate) และเน้นย้ำอยู่เสมอว่าข้อเลือกแรกของพวกเขา คือการสร้างรัฐที่ปกครองโดยผู้ปกครองที่ปฏิบัติตาม คำสอนของอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan)

อย่างไรก็ตาม มีการคาดหมายกันโดยทั่วไปว่าหลังชัยชนะของตาลิบันจะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลั่งไหล ไปปากีสถาน ซึ่งมีชายแดนอันคดเคี้ยว 1,600 กิโลเมตร ร่วมกับอัฟกานิสถาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน