SQUID GAME สุดระทึก เกมเด็กสะท้อนภาพสังคม – ท้าดวลเกมเด็กเล่นง่ายๆ แต่เดิมพันด้วยชีวิต ใน Squid Game (สควิดเกม เล่นลุ้นตาย) ซีรีส์เกาหลีแนวเอาชีวิตรอดสุดระทึก

เมื่อผู้คนจำนวน 456 คน ตัดสินใจเข้าร่วมเกมการแข่งขันปริศนาเพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาลจำนวน 45,600 ล้านวอน โดยหลังจากที่พวกเขาได้เริ่มเล่นเกมซึ่งดูเหมือนเกมเด็กเล่นธรรมดาทั่วไป ถึงได้รู้ว่าการแข่งขันครั้งนี้มีชีวิตเป็นเดิมพัน

ผู้กำกับฯ ฮวังดงฮยอก ซึ่งเป็นทั้งผู้เขียนบทและกำกับฯ ซีรีส์เรื่องนี้ เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพยนตร์รางวัลอย่าง Silenced, Miss Granny และ The Fortress

ส่วนซีรีส์ Squid Game เป็นผลงานที่สร้างขึ้นหลังจากวางแผนมาเป็นเวลากว่า 10 ปีโดยได้แรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนเมื่อปี 2008 ซึ่งเขาได้เปลี่ยนความทรงจำที่บริสุทธิ์และสวยงามของเกมในวัยเด็กให้เป็นความจริงอันโหดร้ายและเต็มไปด้วยการแข่งขันสุดโหด

ฮวังดงฮยอก กล่าวถึง Squid Game ว่า “เป็นดั่งนิทานเปรียบเทียบที่แสดงถึงสังคมทุนนิยมในยุคร่วมสมัย”

หนังหยิบยกเรื่องราวอันหลากหลายของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน และการแข่งขันในสังคมปัจจุบันที่ต้อนพวกเขาให้จนมุม มาเปรียบเปรยกับเกมเด็กเล่นง่ายๆ ที่ทุกคนล้วนเคยเล่นอย่างสนุกสนานในวัยเยาว์ โดยนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ท้าทายถึงขีดสุด

เหล่าผู้เข้าแข่งขันที่ล้วนสิ้นหวังเหมือนยืนอยู่ริมผา ต่างมุ่งหน้าเข้าสู่การแข่งขันเพื่อเงินรางวัลจำนวนมากนี้โดยไม่ลังเล และการพุ่งเข้าหาเงินรางวัลของพวกเขาก็พาให้เราอดนึกถึงตัวเองที่ยังดิ้นรนอยู่ในสังคมทุนนิยมไปด้วยไม่ได้

พร้อมกันนี้ฮวังดงฮยอกได้เปิดเผยถึงที่มาของชื่อซีรีส์ Squid Game ว่า “สควิดเกม เป็นเกมที่ผมเคยเล่นเมื่อตอนเด็กๆ ที่สนามของโรงเรียนและตามถนนในละแวกบ้าน โดยซีรีส์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของผู้คนที่เคยเล่นเกมนี้เมื่อครั้งยังเด็ก และได้กลับมาเล่นอีกครั้งเมื่อเป็นผู้ใหญ่”

“ผมมองว่าสควิดเกมถือเป็นหนึ่งในเกมที่ใช้ร่างกายในการเล่นมากที่สุด และยังเป็นหนึ่งในเกมที่ผมชอบที่สุดด้วย และยังรู้สึกว่าสควิดเกมนั้นเป็นเกมเด็กเล่นอันเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนภาพของสังคมในยุคนี้ได้ดีที่สุด”

ฮวังดงฮยอก ได้เริ่มเขียนบทดราฟต์แรก ของ Squid Game เมื่อปี 2008 ซึ่งถือว่าย้อนเวลากลับไปนานพอสมควร ก่อนภาพยนตร์ยอดนิยมของเขาอย่าง Silenced และ The Fortress เสียอีก

เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่เริ่มเขียนบทไว้ว่า “ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือการ์ตูนเยอะมาก และเขียนบทเรื่องนี้เสร็จเมื่อปี 2009 ณ ตอนนั้นดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะมีเนื้อหาที่คนอาจไม่คุ้นเคยหรือดูรุนแรงเกินไป และมีบางคนที่มองว่าเรื่องราวดูซับซ้อนเกินไปหน่อยและไม่น่าจะทำตลาดได้”

“อีกทั้งตอนนั้นผมยังไม่สามารถระดมทุนในการผลิตได้มากพอ และในส่วนของการ แคสต์นักแสดงก็ยากเช่นกัน ผมคลุกคลีอยู่กับการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ประมาณปีหนึ่งแต่ก็ต้องพับโปรเจ็กต์เก็บไปในที่สุด”

นอกเหนือจากจุดร่วมบางประการของซีรีส์แนวเอาชีวิตรอดทั่วไปแล้ว เรื่องนี้นับว่ามีเอกลักษณ์ที่ต่างจากซีรีส์ในแนวเดียวกันนี้เรื่อง อื่นๆ โดยสิ้นเชิง ฮวังดงฮยอก บอกว่า “แก่นของเกมเอาชีวิตรอดอยู่ตรงความบันเทิงที่ได้เห็นตลอดทั้งเรื่อง และการได้เห็นว่าผู้เข้าแข่งขันต้องดิ้นรนอย่างไรบ้างเพื่อที่จะชนะเกมพวก นั้น”

“ถ้าจะพูดถึงปัจจัยที่ทำให้แตกต่าง ผมว่าคงเป็นเรื่องความเรียบง่ายของกติกา เพราะไม่ต้องใช้เวลาหรือใช้แรงขบคิดอะไรมากก็เข้าใจได้ มันง่ายมาก และแทนที่จะโฟกัสตัวเกม สควิดเกมโฟกัสว่าผู้เล่นแต่ละคนแสดงออกอย่างไรและตอบสนองอย่างไรมากกว่า”

“ปกติแล้วในเกมเอาชีวิตรอดเรามักจะมองไปที่ผู้ชนะ แต่ในสควิดเกม เรามองไปที่คนแพ้ ถ้าไม่มีคนแพ้ ก็ไม่มีคนชนะเช่นกัน”

ในเรื่องยังมีตัวละครที่น่าจดจำมากมาย ด้วยจำนวนผู้เข้าแข่งขันมากถึง 456 คน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีผู้คนหลากหลายจากแทบทุกมิติของสังคม

ไม่ว่าจะเป็น กีฮุน (อีจองแจ) พ่อม่ายที่เผชิญความล้มเหลวทางธุรกิจและปัญหาหนี้สิน เพื่อนที่โตมาในละแวกเดียวกันของเขา ซังอู (พัคแฮซู) ซึ่งสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังและได้ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ แต่กลับเจอทางตันในท้ายที่สุด

ยังมี แซบยอก (จองโฮยอน) ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือที่ดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวของเธอได้มาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง รวมถึงตัวละครอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่าง ด็อกซู (ฮอซองแท) ที่เป็นนักเลง และ จุนโฮ (วีฮาจุน) ตำรวจที่ค้นพบเกมนี้เข้าระหว่างออกตามหาพี่ชายของเขาที่หายตัวไป

นอกจากความบันเทิงแล้วในเรื่องยังใส่สัญลักษณ์ไว้ให้ตีความมากมาย ตัวซีรีส์เองตลอดทั้งเรื่องก็เป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งใจจะสะท้อนภาพการแข่งขันในสังคมปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตกันอยู่

วิถีที่มนุษย์ถูกสังคมหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นั้น สะท้อนออกมาในรูปแบบของการที่เกมเด็กเล่นแสนบริสุทธิ์กลายมาเป็นสิ่งที่โหดร้ายและอันตรายถึงชีวิต

เหล่านักแสดงยังออกปากชมการออกแบบฉากอย่างละเอียด โดยที่ผู้กำกับฯ ไม่ต้องพึ่งพาซีจีมากนัก เพราะเขาตัดสินใจจะใช้ฉากขนาดใหญ่ที่สมจริง ในส่วนของดนตรีที่ใช้ก็เป็นภาพแทนของสิ่งที่เด็กๆในยุค 70 และยุค 80 ฟังกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง และหวนรำลึกถึงอดีต

นอกจากนี้ในซีรีส์ยังนำเอาสองโอปป้าสุดฮอตอย่าง กงยู และ อีบยองฮอน มาเป็นของกำนัลพิเศษสำหรับคนดูด้วย

สำหรับกงยูนั้นก่อนหน้าเคยมีข่าวออกมาบ้างแล้วว่าเขาจะมาร่วมเล่นในซีรีส์เรื่องนี้ ด้วยสายสัมพันธ์อันดีกับผู้กำกับฯ ที่ได้ร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง Silenced แต่กับอีบยองฮอนนั้นเงียบกริบไม่เคยมีข่าวเล็ดลอดออกมา ส่วนว่าใครจะเล่นเป็นตัวละครตัวไหนไปติดตามกันได้ในซีรีส์

เมื่อเกมที่เคยเล่นในตอนเด็ก กลับมาให้เล่นอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ Squid Game (สควิดเกม เล่นลุ้นตาย) ทาง Netflix

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน