“ตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติละชั่วประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด แล้วเราก็จะกลายเป็นสุปฏิปันโน” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พระวิเชียรโมลี หรือ หลวงพ่อปลั่ง พรหมโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พระเกจิชื่อดังจัดสร้างเครื่องรางวัตถุมงคลไว้มาก ที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญพระวิเชียรโมลี รุ่นนิยม ปี 2484” สร้างขึ้นในโอกาสที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระวิเชียรโมลี

ลักษณะเป็นเหรียญรูปคล้ายใบโพธิ์ หกเหลี่ยม มีหูห่วง ไม่ได้ระบุจำนวน การสร้าง ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบ 2 ชั้น ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหันหน้าตรงครึ่งองค์ บริเวณรอบรูปเหมือนเป็นอักขระขอม ขอบโค้งด้านล่างจากซ้ายไปขวาเขียนคำว่า “จังหวัดกำแพงเพ็ช ฉลองสมณะศักดิ์ เปนพระวิเชียรโมลี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นพระพุทธรูป มีอักขระยันต์ด้านซ้ายและด้านขวา ใต้ฐานพระพุทธรูปเขียนคำว่า “๑ มีนาคม ๒๔๘๔” ปัจจุบันหายาก

เหรียญพระพุทธเก่าแก่ “เหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก” วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเหรียญรูปอาร์ม มีหูในตัว ด้านหน้ายกขอบเป็นเส้นนูน และมีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธไตรรัตนนายกประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยเหนืออาสนะยกเป็นฐานชุกชี ด้านข้างทั้งซ้ายและขวามีพระอัครสาวกพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรยืนหันข้าง ด้านบนเขียนว่า “พระพุทธไตรยรัตนนายก”

ด้านหลังเหรียญเป็นพื้นเรียบ ตรงกลางเป็น “ยันต์ 3” บรรจุอักขระขอม 4 ตัว อ่านว่า “อิ สวา สุ อิ” ซึ่งเป็นอักขระย่อของหัวใจพระรัตนตรัย ด้านบนเป็นอักษรไทยโค้งรอบยันต์ว่า “วัดพนัญเชิง กรุงเก่า” ด้านล่างเป็นอักษรจีน 4 ตัว อ่านได้ว่า “ซำปอฮุดกง” เป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้มีไว้ครอบครองก็ต่างหวงแหนยิ่ง

“พ่อท่านแสง ยโสธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองน้ำเจ็ด อ.เมือง จ.ตรัง เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายปักษ์ใต้ที่ชาวตรัง ให้ความเลื่อมใสศรัทธา สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายรุ่น ทั้งเหรียญพระ รูปหล่อ ฯลฯ ได้รับความนิยมแต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เหรียญรุ่นแรกสร้างในปี พ.ศ.2498 เมื่อครั้งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูโอภาสวุฒิคุณ”

ลักษณะเป็นเหรียญกลม รูปไข่ เนื้อทองแดงรมดำ ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหันหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านล่างเขียนว่า “พระครูโอภาสวุฒิคุณ” ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์สี่แฉก ด้านล่างเขียนว่า “ไว้เป็นที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ ๒๔๙๘” สร้างจำนวน 800-1,000 เหรียญ โดยทั้งหมดใส่ไว้ในบาตรและ ปลุกเสก ใครมาขอก็แจกให้ไป สุดท้ายไม่เหลือติดก้นบาตรแม้แต่เหรียญเดียว ปัจจุบันเป็นเหรียญที่นิยมและหายาก

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน