หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร วัดหนัง บางขุนเทียน – วันเสาร์ที่ 2 ต.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 189 ปี ชาตกาล “พระภาวนาโกศล” หรือ “หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณ สโร”หรือ “หลวงพ่อวัดหนัง” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียนกรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความ เลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด เกิดในสกุล ทองอู๋ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.2375 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครอบครัวประกอบอาชีพชาวสวน

อายุ 9 ขวบ เข้าศึกษาที่สำนักพระอาจารย์รอด วัดหนัง ครั้นอายุได้ 11 ขวบ ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักพระมหายิ้มวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้นไปอยู่ใน สำนักพระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมาได้กลับมาบรรพชา และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง สำนักเดิมอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ ดำเนินมาหลายปี ติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ.2394 เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี จึงได้เข้าสอบ แปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่า ต่อหน้าพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขา กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

เมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดราชโอรสารามมีพระสุธรรมเทพเถร (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมเจดีย์ (จีน) พระภาวนาโกศล (รอด) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา สุวัณณสโร

เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมุ่งมั่นศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ในระยะสั้น ย้ายไป อยู่จำพรรษาที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่รอด วัดหนัง ซึ่งมีชื่อเสียง เลื่องลือในด้านวิทยาอาคมขลัง ท่านได้หันมาสนใจศึกษาวิทยาคม กลายเป็นศิษย์เอกที่ พระอาจารย์รักมาก

ต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลวงปู่รอด ถูกถอดจากสมณศักดิ์เดิม ให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งหลวงปู่เอี่ยมตามไปรับใช้ด้วย ไม่นานนักก็ถึงแก่มรณภาพ และได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทน








Advertisement

นอกจากนี้ ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

พ.ศ.2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่เอี่ยม ไปครองวัดหนัง และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาโกศล (เอี่ยม) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง

เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ จะได้รับสั่งให้ ขุนวินิจฉัยสังฆการี นิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ ฉัตรมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

ครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปีเศษ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดหนังเป็นอย่างมาก

จวบจนละสังขาร เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2469

สิริอายุ 94 ปี 72 พรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน