‘เหรียญหลวงพ่อปู่-วัดโกรกกราก’ได้รับความนิยมสูงเครื่องรางของขลังหายาก‘แหวนหลวงปู่เปลี่ยน-วัดใต้’ – “เมื่อเราเอาสติตามรู้อารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา วิถีจิตเขา จะเดิน เขาจะเดินอยู่ตรงที่ว่า บางทีรู้ลมหายใจ บางทีรู้ว่าง บางทีรู้ความคิด เราปล่อยให้จิตของเราเดินอยู่ที่ลมหายใจ ความคิด ความว่าง ลมหายใจ ความคิด ความว่างจนกว่าจิตจะจับสิ่งใดอยู่อย่างมั่นคง” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่กรับ ญาณวัฑฒโน” อดีตเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อดีตพระเกจิที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวมหาชัย วัตถุมงคลมีหลายรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะ เหรียญหลวงพ่อปู่ วัดโกรกกราก รุ่นแรก ปี พ.ศ.2502 เป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว จัดสร้างด้วยกัน 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ด้านหน้า จำลองรูปพระประธานในพระอุโบสถหรือหลวงพ่อปู่วัดโกรกกราก ประดิษฐานบนฐานบัว ด้านล่างมีเลขไทย “๒๕๐๒” บอกปีที่สร้าง ด้านหลัง มี อักขระยันต์เฑาะว์ ใต้ยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “หลวงพ่อปู่วัดโกรกกราก” หายาก เนื่องจากสร้างน้อยมาก

“พระวิสุทธิรังสี” หรือ “หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร” หรือ หลวงพ่อวัดใต้ หรือ หลวงปู่วัดใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ หรือ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีคุณูปการ และเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัตถุมงคล รวมทั้งเครื่องรางของขลังที่จัดสร้าง ล้วนแต่ทรงพุทธาคมเป็นที่แสวงหา โดยเฉพาะแหวน สร้างประมาณปี พ.ศ.2483 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลวงปู่เปลี่ยนสร้างแจกจ่ายประชาชนทั่วไป ลักษณะรูปไข่ เนื้อเงินลงถม จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุ ด้านหน้า มีรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีอักขระยันต์ต่างๆ และมีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้า เขียนคำว่า “วิสุทธิรังษี” ด้านหลังท้องแหวนเรียบไม่มีอักขระ ปัจจุบัน หายากยิ่ง

พระสังวรานุวงศ์เถร หรือ “เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม)” อดีตเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ เขตบางกอกใหญ่ รูปที่ 16 (พ.ศ.2458-2470) วัตถุมงคลที่ได้รับ ความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เครื่องราง “น้ำเต้ากันไฟ” ที่เลือกเอาแต่ผลที่มีลักษณะตรงตาม ตำราบ่งบอกไว้ เอามาควัก เนื้อในและเม็ดออกให้หมด แล้วจึงลงอักขระเลขยันต์และ ปลุกเสกตามสูตรโบราณ

การสร้างน้ำเต้ากันไฟ ให้ถูกต้องตามแบบโบราณนั้นสร้างยากมาก นับตั้งแต่หาวัสดุจนถึงขั้นตอนการปลุกเสก นอกจากนี้ บางลูกก็มีการถักเชือกและลงรักปิดทองไว้ บางลูกก็ไม่มี ไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไป แต่ในวงการพระเครื่องมักนิยมและเล่นหาแบบ ถักเชือกและลงรักมากกว่า และได้รับความนิยมสูงมาก

วัดศรีเตี้ย (วัดหลวงศรีเตี้ย) ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นวัดเก่าแก่ โดยมี ครูบาเจ้าถาวระ ถาวรธัมโม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก กระทั่งถึงสมัยเจ้าอาวาสรูปที่ 13 นามว่า ครูบาสุรินทร์ สุรินโท ที่ได้ไปศึกษาวิชากัมมัฏฐาน กับครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

ครูบาสุรินทร์ เป็น เจ้าอาวาสวัด ศรีเตี้ย ในช่วงปี พ.ศ.2474-2532 “เหรียญนวโลหะรูปครูบาเจ้าศรีวิชัย-ครูบาเจ้าสุรินทร์ สุรินโท” จัดสร้างจาก ดำริของ พระครูกัลยาณธรรมนิวิฐ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เมื่อ วันที่ 19 เม.ย.2554 เป็นเหรียญกลมรูปไข่ ชุบทอง 2 ด้าน

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปของครูบาเจ้าศรีวิชัยครึ่งองค์ หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่ง ล้านนาไทย” ส่วนด้านหลังเหรียญ เป็นรูปครูบาสุรินทร์ครึ่งองค์ หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “หลวงปู่ครูบาสุรินทร์ วัดหลวงศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ๒๕๕๔” เป็นอีกเหรียญที่ควรค่าแก่การสะสม

“หลวงปู่ขำ เกสโร” หรือ “พระครูโสภณสราธิการ” เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแดง ต.หนองกุง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม คณะศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธา มีโครงการจัดหาปัจจัยสมทบทุนก่อสร้างศาลาการเปรียญ จึงจัดสร้างเหรียญหล่อหนุนชะตามหาเศรษฐี

ลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่ มีหูห่วงด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่เต็มองค์นั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้านล่างสุดเป็นอักขระยันต์ นะ ชา ลี ติคาถาหัวใจพระสีวลี ด้านหลังเหรียญ บริเวณกลางเหรียญเป็นยันต์พุทธคุณเด่นรอบด้าน ด้านล่างเขียนคำว่า “พ.ศ.๒๕๖๐” ล่างสุดเขียนว่า “หลวงปู่ขำ เกสโร” เป็นอีกเหรียญวัตถุมงคลที่ทรงคุณค่า

“หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาส วัดพระพุทธบาทชนแดน พระเกจิชื่อดัง วัตถุมงคลที่ได้รับ ความนิยม หนึ่งในนั้น “พระกริ่งไตรมาส หลวงพ่อทบ วัดชนแดน” จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2515 อนุญาตให้คณะกรรมการวัดโบสถ์โพธิ์ทอง จัดสร้างเพื่อมอบให้ผู้ที่ร่วมทำบุญร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ หลังออกพรรษา วันที่ 29 ต.ค.2515

ด้วยการสร้างตามตำราสร้างพระกริ่งแต่โบราณ ประกอบด้วยโลหะมงคล 9 ชนิด ได้แก่ ทองคำ ทองแดง เงินบริสุทธิ์ ตะกั่วชิน สังกะสี ดีบุก เหล็กละลายตัวเข้าน้ำเงิน และแผ่นโลหะที่หลวงพ่อทบปลุกเสก โดยมีพระมั่นกับเฒ่าคง เป็นผู้จุดเทียนชัย พระชื่อมหานิยม เป็นผู้เทโลหะลงเบ้า สร้างตามกรรมวิธีสร้างพระกริ่งแบบโบราณ โดยเทโลหะที่หลอมแล้วลงเบ้าดิน ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลหะทั้ง 9 ชนิด ก่อนนำมาแต่งด้วยมืออีกครั้ง ซึ่งสร้างทั้งหมดเพียง 300 องค์ จากนั้นทำลายแม่พิมพ์ มอบให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญ 300 บาท จำนวน 1 องค์ นักสะสมพระเครื่อง ไม่ควรพลาด

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน