อัพเกรดผ้าไหมไทย ป้อนตลาดศักยภาพสูง – ผ้าไหมไทย ได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศที่มีความสวยงาม มีความอ่อนนุ่ม เส้นไหมมีความเลื่อมเงางามโดยธรรมชาติ ใส่แล้วภูมิฐาน

คุณสมบัติพิเศษของผ้าไหม เมื่ออากาศร้อน ผ้าไหมจะช่วยคลายร้อน และเมื่ออากาศหนาว ผ้าไหมบางๆ กลับช่วยให้อุ่นสบาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของผ้าไหมไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่หรือใช้งาน

กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นในศักยภาพผ้าไหมไทย จึงผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรม กระตุ้นการรับรู้ สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้สวมใส่ พร้อมเปลี่ยนทัศนคติ ไหมไทย สัญลักษณ์ไทย ใครๆ ก็ใช้ได้ มั่นใจ ความสวยงาม ทนทาน ครองใจผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม

ขณะเดียวกัน ได้ยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ








Advertisement

ปัจจุบันมีการนำผ้าไหมไปสร้างสรรค์ผลงาน ตั้งแต่ผ้าไหมที่สวมใส่ เสื้อผ้า งานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้าโอท็อป และสินค้าส่งออกยอดนิยม ซึ่งแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ โดยนำผ้าไหมมาออกแบบให้ดูทันสมัย ประยุกต์ปรับเปลี่ยนตามแฟชั่น

นอกจากจะเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อผ้าแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่ผลิตผ้าไหม จะต้องติดตามความต้องการของตลาด และพัฒนาสินค้าผ้าไหมให้ตรงตามความต้องการ ก็จะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวอย่างผ้าไหมที่ตลาดมีความต้องการ เช่น 1.ผ้าผืนไหมย้อมสีธรรมชาติ เช่น ผ้าผืนไหมทอลายดอกหมากย้อมสีธรรมชาติ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันทำการย้อมเส้นใยสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช้สารเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่ากับให้กับงานฝีมือ เนื้อไหมนุ่มเนียน เบา เย็นสบาย แต่อุ่นเมื่ออยู่ในที่เย็น

2.ชุดผ้าไหม ที่มีการนำผ้าไหมมาทำชุดใส่ทั้งออกงานและสวมใส่ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นและใส่ได้ทุกวัย

3.หน้ากากผ้าไหม ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรค และช่วยเสริมความสวยงาม ความหรูหราที่สอดแทรกไปกับความทันสมัย

4.ผ้าไหมกับงานตกแต่งบ้าน เช่น ผนังวอลเปเปอร์ ผ้าม่าน เป็นต้น

5.ผ้าไหมใช้กับเฟอร์นิเจอร์ เช่น เบาะรองนั่ง โซฟา หมอนอิง เป็นต้น

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผ้าไหมไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งส่งเสริมองค์ความรู้เทคโนโลยีและการเลี้ยงไหมให้ได้มาตรฐานครบวงจรแก่เกษตรกรให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อส่งไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่เส้นไหม และจะต้องเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์และการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้บริโภคทราบช่องทางการซื้อขายผ้าไหมหรือผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องช่วยสร้างการเล่าเรื่องที่มาของเส้นไหมจนถึงออกมาเป็นผ้าผืน เพื่อให้ผู้ซื้อทั้งใน และต่างประเทศทราบถึงกระบวนการต่างๆ ในความพยายามของเกษตรกรตลอดการผลิตจนถึง ออกมาเป็นผ้าผืนและผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันการผลิตไหมของไทยมี 2 แบบคือ การเลี้ยงไหมแบบครัวเรือนหรือหัตถกรรม และการเลี้ยงไหมแบบอุตสาหกรรม เพื่อนำไปทอผ้าเป็น ผ้าไหม โดยมีการเลี้ยงไหมกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ รวมจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงไหมทั้งประเทศ 30,254 ราย (อ้างอิงจากกรมหม่อนไหม ณ เดือนมี.ค.2564)

ประเภทของผ้าไหมไทยแบ่งตามลักษณะการทอ เช่น ผ้าไหมทอมือลายขัด ผ้าไหม มัดหมี่ ผ้าไหมขิด ผ้าไหมจก ซึ่งรู้จักในชื่อของผ้าแพรวา และผ้าไหมยก

ทางด้านการส่งออก ในปี 2563 ไทย ส่งออกไหม (ประเภทสินค้า รังไหม ไหมดิบ เศษไหม ด้ายไหม) ปริมาณ 224.56 ตัน มูลค่า 184.44 ล้านบาท ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน ฝรั่งเศส และตุรกี

นอกจากนี้ ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไหมในรูปแบบของผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยไทยส่งออกผ้าผืนทำจากไหม มีมูลค่า 138.70 ล้านบาท ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากไหมมีมูลค่า 64.60 ล้านบาท ตลาดสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐ สิงคโปร์ เป็นต้น

สนค.จึงสนับสนุนอัพเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาด ที่หลากหลายและเพิ่ม สูงขึ้น

หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และคง อัตลักษณ์ในการเป็นไหมไทยโดยแท้ที่เป็นเส้นไหมที่สาวด้วยมือ จะทำให้ไหมไทยสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ไม่ยากโดยเฉพาะตลาดอาเซียน

วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน